TNN online รัฐสภายุโรปลงมติคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียอย่างท่วมท้น

TNN ONLINE

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

รัฐสภายุโรปลงมติคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียอย่างท่วมท้น

รัฐสภายุโรปลงมติคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียอย่างท่วมท้น

สมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรป หรืออียู ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 513 เสียง คัดค้าน 22 เสียง และงดออกเสียง 19 เพื่อคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมัน, ถ่านหิน, เชื้อเพลิงนิวเคลียร์และก๊าซ จากรัสเซียทันที ในวันพฤหัสบดี แต่มติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย

โรเบอร์ตา เมสโตลา ประธานรัฐสภาสหภาพยุโรป กล่าวต่อสมาชิกหลังการลงมติว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ๆ และเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เขาคิดว่าจุดยืนของรัฐสภาแห่งนี้ ชัดเจน และส่งสารที่แข็งกร้าวที่สุดเพื่อแสดงการสนับสนุนประชาชนในยูเครน  


อย่างไรก็ตาม แม้การห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียของอียู จะตัดแหล่งรายได้สำคัญสำหรับการทำสงครามของรัสเซีย แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยุโรป และผลักให้ราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน


---ยุโรปพยายามลดการพึ่งพารัสเซีย---


มีรายงานว่า ชาติตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติรายใหญ่จากรัสเซีย กำลังคว่ำบาตรและลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหลังรัสเซียประกาศจะให้ชาติที่ไม่เป็นมิตร ชำระค่าก๊าซด้วยเงินรูเบิล ดังนั้น ก๊าซส่วนต่างที่ขายไม่ได้ จีนก็จะเข้ามาเป็นผู้นำเข้าแทน ในราคาที่ถูกลงอย่างน้อย 10%


แม้โรงกลั่นน้ำมันของรัฐบาลจีนยังคงดำเนินการนำเข้าน้ำมันรัสเซียตามข้อตกลงที่ทำไว้ แต่พยายามหลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงใหม่ ๆ แม้ว่าราคาน้ำมันรัสเซียจะลดลงมาก


สำนักข่าว Reuters วิเคราะห์ อ้างอิงจากปากคำของแหล่งข่าวว่า บริษัทน้ำมันจีนไม่ต้องการแสดงตนชัดเจนว่าสนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย ต่อกรณียูเครน ด้วยการซื้อน้ำมันในปริมาณที่มากขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะที่สหภาพยุโรปเอง ก็คว่ำบาตรผู้ส่งออกน้ำมันรัสเซีย ทั้ง Rosneft และ Gazprom


---จีนนำเข้าน้ำมันเพิ่ม หรือลดลงกันแน่?---


Reuters สอบถามไปยัง Sinopec และ PetroChina เพื่อขอความเห็นต่อเรื่องนี้ แต่ทั้งสองบริษัทปฏิเสธแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว ส่วน CNOOC และ Sinochem ยังไม่ตอบข้อร้องขอของ Reuters


ด้านสำนักข่าว RT และ Bloomberg รายงานสวนทางกันว่า ที่จริงแล้ว บริษัทโรงกลั่นน้ำมันจีนกำลังกว้านซื้อนำมันดิบรัสเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างเงียบ ๆ


อย่างไรก็ดี สำนักข่าว RT รายงานว่า ผู้นำเข้าก๊าซ LPG รายใหญ่ของจีน กำลังมองหาช่องทางซื้อก๊าซ LPG ของรัสเซีย ที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร ในราคาที่ถูกลง เพื่อเติมเสบียงก๊าซสำรอง ก่อนที่ราคาก๊าซจะดีดตัวสูงขึ้นมาในฤดูร้อนนี้


และก็เป็นบริษัทจีนเดียวกันกับที่เล็งลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย คือ Sinopec และ PetroChina ที่กำลังหารือถึงการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย


---จีนผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก---


จีนถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งส่งผ่านท่อส่งน้ำมันภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาล คือท่อส่งน้ำมัน ไซบีเรียตะวันออกและ Atasu-Alashankou ที่เหลือก็จะส่งด้วยเรือบรรทุกน้ำมัน ผ่านทะเลดำ ทะเลบอลติก และท่าเรือฟาร์อีสต์ โดยก่อนวิกฤตยูเครน น้ำมันดิบจากรัสเซีย คิดเป็น 15% ของการนำเข้าน้ำมันของจีน


สำนักข่าว Reuters วิเคราะห์ว่า หากจีนไม่เพิ่มสัญญาซื้อขายน้ำมันจากรัสเซียไปมากกว่านี้ หมายความว่า โรงกลั่นน้ำมันจีนจะต้องหาแหล่งน้ำมันใหม่ ท่ามกลางราคาน้ำมันที่พุ่งสูงจากวิกฤตยูเครนและรัสเซีย


---สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันเพิ่ม?---


ส่วนท่าทีจากสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะกดดันให้ชาติพันธมิตรหยุดการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เพื่อลงโทษต่อกรณีส่งทหารไปยูเครน แต่ทางการรัสเซียเปิดเผยว่า ก่อนที่จะถึงเส้นตายเริ่มการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย สหรัฐฯ กลับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันจากรัสเซียถึง 43% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันรัสเซียตั้งแต่เดือนที่แล้ว แต่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายการยุติข้อตกลงนำเข้าน้ำมันและถ่านหินจากรัสเซีย ในวันที่ 22 เมษายนนี้ หมายความว่า ในช่วงเวลานี้สหรัฐฯ ยังนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียได้อยู่


ทั้งนี้ นับแต่รัสเซียดำเนิน “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ในยูเครน สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ผลักดันมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของหลายชาติยุโรป เพราะพึ่งพาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมหาศาล


---สหรัฐฯ ปล่อยน้ำมันสำรองมหาศาล---


ขณะที่ ประธานาธิบดีไบเดนก็ประกาศปล่อยน้ำมันสำรอง 180 ล้านบาร์เรลเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยชาติพันธมิตรตัดสินใจได้ง่ายขึ้น


อย่างไรก็ตาม มิคาเอล โปปอฟ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการความมั่นคงรัสเซีย เปิดเผยว่า ช่วงไม่กี่วันมานี้ สหรัฐฯ เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบจากรัสเซียถึง 43% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่ไม่ได้ระบุชัดว่า เป็นการนำเข้าน้ำมันหรือไม่


แต่เขาก็เตือนชาติยุโรปว่า “ให้เตรียมใจรับมือท่าทีที่น่าตกใจของสหรัฐฯ อีกเรื่อย ๆ...เพราะสหรัฐฯ ยังอนุญาตให้บริษัทอเมริกันส่งออกปุ๋ยจากรัสเซียด้วย ด้วยเหตุผลว่าเป็นสินค้าอุปโภคจำเป็น”


และอันที่จริง สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียในปี 2021 มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังภัยพิบัติและพายุเฮอร์ริเคน ทำให้การผลิตน้ำมันดิบในแถบอ่าวของสหรัฐฯ ต้องหยุดชะงัก แต่ในปีนี้ ก่อนหน้าคำสั่งคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย สหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพียง 57,000 บาร์เรลต่อวัน ถือว่าลดลงมากจากปี 2021


ดังนั้น จึงไม่แน่ชัดว่า ตัวเลขการผลิตน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มของสหรัฐฯ 43% ตามที่ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการความมั่นคงรัสเซีย กล่าวอ้างนั้น มาจากไหน


---นโยบายที่ย้อนแย้งของสหรัฐฯ---


ขณะที่ กุ่ย เหิง ผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์รัสเซียศึกษาของมหาวิทยาลัยอีสต์ ไชนา นอร์มัล ระบุกับ Global Times ว่า นโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียประกอบด้วย 2 มิติ


มิติแรก คือ เสรีนิยมเพื่อต้านทานระบบการเมืองรัสเซีย


มิติที่สองคือ นโยบายเชิงปฏิบัตินิยมเพื่อสนองตอบผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง


กุ่ยกล่าวว่า “ในมุมอุดมคติเพื่อต่อต้านรัสเซีย สหรัฐฯ กดดันให้พันธมิตรคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ในแง่ของความเป็นจริง สหรัฐฯ กลับซื้อพลังงานรัสเซียในราคาที่ถูกขึ้น และขายต่อให้กับยุโรปในราคาที่แพงขึ้น เพื่อสนองตอบผลประโยชน์ของบริษัทด้านพลังงานในประเทศตนเอง”


“ท้ายสุด ยุโรปกลายเป็นเหยื่อ ความมั่งคั่งของยุโรปไหลไปสหรัฐฯ และช่วยทำให้เงินดอลลาร์แข็งแกร่งขึ้นเหนือยูโร”


---สหรัฐฯ ผู้ชนะในวิกฤตยูเครน?---


ตอนนี้ ก๊าซแอลพีจีของสหรัฐฯ กลายเป็นสิ่งที่ยุโรปต้องการ เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยสื่อสหรัฐฯ รายงานว่า ยุโรปเป็นผู้นำเข้าก๊าซแอลพีจีอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ต่อเนื่องมา 4 เดือนแล้ว หรือคิดเป็น 65% ของการส่งออกก๊าซแอลพีจีของสหรัฐฯ ทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ประกาศว่า จะส่งมอบก๊าซแอลพีจีอย่างน้อย 15 ล้านลูกบาศก์เมตรให้ยุโรปในปีนี้ เพื่อหวังลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย และคาดว่า ปริมาณการส่งออกก๊าซสหรัฐฯ ไปยุโรปจะเพิ่มขึ้นอีก


มิค วอลเลซ สมาชิกรัฐสภายุโรป ปราศรัยต่อรัฐสภายุโรปว่า ยุโรปควรจะเป็นอิสระจากการพึ่งพาพลังงานรัสเซียก็จริง แต่ไม่ควรแทนที่ด้วยก๊าซจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่รุกรานประเทศอื่นมากกว่าประเทศใด ๆ ในโลก


นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และการแบนน้ำมันรัสเซีย ก็คือ สหรัฐฯ นั่นเอง

—————

ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด

https://bit.ly/TNNRussiaInvasion

—————

แปล-เรียบเรียง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล และ สันติสร้างนอก

ภาพ: Reuters and Graphic

ข่าวที่เกี่ยวข้อง