TNN จีนสร้างแกนกลางของเตาปฏิกรณ์จิ๋วได้แล้ว แซงหน้าสหรัฐฯ เปิดใช้ 2026

TNN

Tech

จีนสร้างแกนกลางของเตาปฏิกรณ์จิ๋วได้แล้ว แซงหน้าสหรัฐฯ เปิดใช้ 2026

จีนสร้างแกนกลางของเตาปฏิกรณ์จิ๋วได้แล้ว แซงหน้าสหรัฐฯ เปิดใช้ 2026

จีนสร้างแกนกลาง (Core Module) ของเตาปฏิกรณ์ขนาดเล็กสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กแห่งแรกของโลกในปี 2026 ได้สำเร็จแล้ว

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) กำลังกลายเป็นกระแสการสร้างพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต โดยมี 2 ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นผู้เล่นหลัก แต่ว่าจีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ จากความสำเร็จล่าสุดในการสร้างแกนกลาง (Core Moudular) สำหรับ SMR ได้สำเร็จแล้ว หลังเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2021 ที่ผ่านมา


เตาปฏิกรณ์จิ๋วแห่งแรกของโลกในจีน ?

แกนกลางดังกล่าวจะถูกใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลิงหลง วัน (Linglong One) ที่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกตามการรายงานของบริษัท โดยตั้งอยู่บนเกาะทางตอนใต้ของไหหนาน ซึ่งแกนกลางนั้นพัฒนาและสร้างขึ้นโดยบริษัท ไชน่า เฟิสต์ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (China First Heavy Industries) มีกำลังการจ่ายไฟฟ้า 1,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพียงพอต่อการจ่ายไฟให้กับ 526,000 ครัวเรือนในแต่ละปี


โดยปกติการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะใช้พื้นที่ขนาดใหญ่และต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ (GW) แต่โรงไฟฟ้าหรือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จิ๋วจะมีกำลังการผลิตไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ ทำให้ขนาดเตาปฏิกรณ์และสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องโดยรอบมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลง เปิดโอกาสให้พื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ขนาดเล็กสามารถสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงได้


การสร้างแกนกลางเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ยากที่สุดต่อจากการยื่นประเมินความปลอดภัยด้านผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น แหล่งน้ำที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้า ตลอดจนแผนการก่อสร้างและการบริหารเพื่อป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) และหลังจากเสร็จสิ้นการสร้างแกนกลาง ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2021 ก็เหลือการก่อสร้างส่วนอื่น ๆ เพื่อให้พร้อมจ่ายไฟเข้าสู่ระบบในปี 2026 ต่อไป 


กระแสเตาปฏิกรณ์จิ๋วทั่วโลก

การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กหรือ SMR กำลังเป็นที่นิยม โดยมี SMR ที่อยู่ระหว่างการพัฒนากว่า 70 โครงการทั่วโลกรวมถึงในจีน ส่วนในสหรัฐอเมริกาก็มีวอร์เรน บัฟเฟต์ (Warren Buffet) และบิล เกตส์ (Bill Gates) เป็นนักลงทุนรายสำคัญในวงการนี้ด้วย 


SMR สามารถจ่ายไฟฟ้ามหาศาลในพื้นที่ขนาดเล็กและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก หรือแม้แต่ใช้ช่วยผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเลได้ด้วยเช่นกัน โดยจีนเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ตนพัฒนาไปยังกลุ่มประเทศในเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative: BRI) รวมถึงประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียต่อไป


ที่มาข้อมูล Interesting EngineeringOffice of Nuclear Energy

ที่มารูปภาพ CNNC

ข่าวแนะนำ