TNN online จรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลำแรกของโลก เปิดตัว 8 มีนาคมนี้ !

TNN ONLINE

Tech

จรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลำแรกของโลก เปิดตัว 8 มีนาคมนี้ !

จรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลำแรกของโลก เปิดตัว 8 มีนาคมนี้ !

บริษัท รีเลทิวิตี สเปซ (Relativity Space) เตรียมทดลองยิงจรวดเทอร์แรน 1 (Terran 1) ซึ่งเป็นจรวดที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลำแรกของโลก

บริษัท รีเลทิวิตี สเปซ (Relativity Space) เตรียมทดลองยิงจรวดลำแรกของโลกที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในวันที่ 8 มีนาคม 2023 ที่จะถึงนี้ ณ แหลมคะแนเวอรัล ชายฝั่งของรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภารกิจทดสอบครั้งนี้มีชื่อว่าจีแอลเอชเอฟ (GLHF หรือ Good Luck, Have Fun)

จรวดเทอร์แรน 1 (Terran 1) 

สำหรับจรวดลำดังกล่าวมีชื่อว่าเทอร์แรน 1 (Terran 1) สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากถึง 2,756 ปอนด์ หรือ 1,250 กิโลกรัม มีความสูงอยู่ที่ 110 ฟุต หรือ 33 เมตร ซึ่งกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ของมวลจรวดทั้งหมดสร้างมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำให้มันครองตำแหน่งจรวดลำแรกของโลกที่สร้างมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคต 


ในส่วนของเชื้อเพลิง จรวดเทอร์แรน 1 จะใช้ออกซิเจนเหลวและก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อลดการปล่อยมลพิษในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งหากภารกิจจีแอลเอชเอฟสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จรวดเทอร์แรน 1 จะเป็นจรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลำแรกที่ได้ไปแตะอวกาศและเป็นจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติลำแรกที่ได้แตะอวกาศด้วยเช่นกัน


จรวดเทอร์แรน อาร์ (Terran R) 

นอกจากจรวดเทอร์แรน 1 บริษัท รีเลทิวิตี สเปซยังเคยเปิดตัวจรวดเทอร์แรน อาร์ (Terran R) ไปเมื่อปี 2021 ซึ่งบูสเตอร์ของจรวดเทอร์แรน อาร์มีขนาดใหญ่กว่าบูสเตอร์ของจรวดเทอร์แรน 1 มาก โดยมีความสูงอยู่ที่ 216 ฟุต หรือ 66 เมตร และมีความกว้าง 16 ฟุต หรือ 4.9 เมตร ทำให้จรวดเทอร์แรน อาร์สามารถส่งวัตถุขึ้นสู่วงโคจรได้หนักกว่าจรวดเทอร์แรน 1 ถึง 25 เท่า

จรวดจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ลำแรกของโลก เปิดตัว 8 มีนาคมนี้ !

โดยความสามารถของจรวดเทอร์แรน อาร์กำลังเข้าใกล้กับความสามารถของจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งทางบริษัท รีเลทิวิตี สเปซคาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จรวดจะสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 44,100 ปอนด์ หรือ 20,000 กิโลกรัม และเป็นจรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) เต็มรูปแบบ ซึ่งแม้แต่จรวดฟัลคอน 9 ก็ยังทำไม่ได้ เพราะจรวดฟัลคอน 9 ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ข้อมูลจาก space.com

ภาพจาก Relativity Space

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง