TNN online สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย

TNN ONLINE

Tech

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย

ชมนวัตกรรมจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มข้าวสาลีกลางทะเลทราย เพื่อลดการนำเข้าอาหารจากภายนอกประเทศ และอาจจะต่อยอดไปเป็นเกษตรวิถีใหม่ เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก

ท่ามกลางความร้อนและความแห้งแล้งของทะเลทรายชาร์จาห์ (Sharjah) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมีวงกลมสีเขียวขนาดมหึมา 8 วงปรากฏอยู่ และนี่ก็คือโครงการเพาะปลูกข้าวสาลีกลางทะเลทราย ที่รัฐบาลพัฒนาขึ้น เพื่อหวังลดการนำเข้าอาหาร และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ



สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย ภาพจาก รอยเตอร์

 ฟาร์มเพาะปลูกสีเขียวเพื่อลดการนำเข้าอาหาร

โดยรัฐบาลได้เปิดตัวฟาร์มขนาด 400 เฮกตาร์ หรือประมาณ 2,500 ไร่ในปี 2022 ซึ่งฟาร์มข้าวสาลีแห่งนี้ ใช้เทคโนโลยีมากมายในการควบคุมผลผลิต ไม่ว่าจะเป็น ระบบผลิตน้ำกลั่นเพื่อการชลประทาน ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และระบบการถ่ายภาพความร้อน เพื่อรวบรวมข้อมูลสภาพอากาศและดิน ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมอัตราการให้น้ำ และติดตามการเจริญเติบโตของข้าวสาลีได้อย่างต่อเนื่อง และฟาร์มแห่งนี้ ยังเป็นฟาร์มที่ปลอดการใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมี และเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมอีกด้วย



สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย ภาพจาก รอยเตอร์

 


ส่วนประเด็นที่ผลักดัน ให้เกิดการทำฟาร์มข้าวสาลีแห่งนี้ขึ้น ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย รวมถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยที่ผ่านมาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องนำเข้าอาหารประมาณร้อยละ 90 อย่างเช่นในปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ต้องนำเข้าข้าวสาลีถึง 1.7 ล้านเมตริกตัน


สำหรับผลผลิตที่คาดว่าจะได้จากฟาร์มกลางทะเลทรายแห่งนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,600 ตันต่อปี ซึ่งถือว่าปริมาณอาจจะไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความต้องการทั้งหมด แต่ทางรัฐบาลมีแผนที่จะขยายพื้นที่ต่อไป เริ่มจาก 1,400 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8,750 ไร่ ไปจนถึง 1,900 เฮกตาร์ หรือประมาณ 11,870 ไร่ ภายในปี 2025



สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เทคโนโลยีทำฟาร์มไร่ข้าวสาลีกลางทะเลทราย ภาพจาก รอยเตอร์

 ศึกษาความเป็นไปได้ เอาความท้าทายไปต่อยอด

ส่วนความท้าทายของการทำฟาร์มกลางทะเลทรายแห่งนี้ ก็คือการจัดการน้ำเพื่อการชลประทาน โดยจะต้ัองใช้ต้นทุนด้านพลังงานในการผลิตน้ำกลั่น 18,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่รัฐบาลคาดการณ์ว่าต้นทุนเหล่านี้อาจจะลดลงตามสัดส่วน เมื่อโครงการขยายขนาดขึ้น 


นอกจากนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 หรือการประชุมสุดยอดรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงประจำปี 2023 ก็ยังมีแผนสำหรับการผลิตอาหาร ที่จะใช้การรีไซเคิลน้ำ และลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นการทำฟาร์มกลางทะเลทรายนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศมีแนวทางเพิ่มความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น และอาจจะเป็นแนวทางในการทำฟาร์มรูปแบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย



ข้อมูลจาก reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง