TNN online แสงเลเซอร์สีเขียวจากอวกาศเหนือหมู่เกาะฮาวาย คาดเป็นดาวเทียมจีน

TNN ONLINE

Tech

แสงเลเซอร์สีเขียวจากอวกาศเหนือหมู่เกาะฮาวาย คาดเป็นดาวเทียมจีน

แสงเลเซอร์สีเขียวจากอวกาศเหนือหมู่เกาะฮาวาย คาดเป็นดาวเทียมจีน

แสงเลเซอร์สีเขียวจากอวกาศเหนือหมู่เกาะฮาวาย คาดเป็นดาวเทียมจีน

คืนวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา บริเวณเหนือท้องฟ้าหมู่เกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายงานการพบเห็นแสงเลเซอร์ประหลาดคาดว่าถูกยิงลงมาจากอวกาศ

ผู้เชี่ยวชาญของหอดูดาวแห่งชาติของญี่ปุ่น (NAOJ) คาดว่าแสงเลเซอร์ที่ยิงลงมาจากดาวเทียมสำรวจบางดวงไม่ได้เป็นยูเอฟโอ (UFO) หรือยานอวกาศจากต่างดาว เนื่องจากเทคโนโลยีการยิงแสงเลเซอร์ลงมาจากดาวเทียมเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศมีใช้อยู่ในหลายประเทศ

ในตอนแรกผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นดาวเทียม ICESat-2 ของนาซาที่ติดตั้งเทคโนโลยีและมีตำแหน่งการโคจรใกล้เคียงกับตำแหน่งการบันทึกภาพวิดีโอดังกล่าวเอาไว้ได้ โดยดาวเทียม ICESat-2 ของนาซา มีภารกิจในการศึกษาน้ำแข็งในทะเล การละลายของแผ่นน้ำแข็ง และปริมาณป่าไม้บนโลก

อย่างไรก็ตามในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงานได้ตรวจสอบวิถีการโคจรของลำแสงโดยละเอียดอีกครั้งพบว่าอาจไม่ใช่ดาวเทียมของนาซาแบบที่คิดเอาไว้แต่อาจเป็นดาวเทียมของประเทศจีน

ทีมงานผู้เชี่ยวชาญนำโดย ดร. อัลวาโร อิวานอฟ และคณะได้นำตำแหน่งของดาวเทียมจีนชื่อว่า Daqi-1/AEMS พบว่ามีตำแหน่งการโคจรที่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของลำแสงเลเซอร์ดังกล่าว

ทั้งดาวเทียม Daqi-1/AEMS และดาวเทียม ICESat-2 ของนาซามีความคล้ายคลึงกันในด้านของการทำภารกิจสำรวจทรัพยากรโลกและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ

สำหรับดาวเทียม Daqi-1/AEMS มีลักษณะเป็นเครือข่ายดาวเทียม 2 ดวง ประกอบด้วย Daqi-1 และ Daqi-2 ติดตั้งเทคโนโลยีที่ชื่อว่า ACDL ซึ่งย่อมาจาก Aerosol and Carbon dioxide Detection Lidar หรือ การใช้ลำแสงเลเซอร์ช่วยในการถ่ายภาพ ตรวจสอบและกำหนดระยะด้วยแสงเลเซอร์คล้ายการทำงานของคลื่นโซนาร์ที่สะท้อนเมื่อกระทบวัตถุ วิธีการดังกล่าวมีความละเอียดสูงและสามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กระดับโมเลกุลต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศโลก

กล่าวกันว่าขีดความสามารถของดาวเทียม Daqi-1/AEMS สามารถตรวจจับฝุ่นขนาดเล็กระดับ PM2.5 รวมไปถึงไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และโอโซน รวมไปถึงความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในชั้นบรรยากาศโลกได้อย่างแม่นยำ

ที่มาของข้อมูล Sciencealert
ที่มาของรูปภาพ National Observatory of Japan 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง