วิจัยใหม่เผย ! ควันไอเสียจราจรทำสมองมนุษย์ทำงานบกพร่องได้ในทันที
นักวิจัยพบเป็นครั้งแรกว่า การสัมผัสมลพิษจากการจราจรสามารถทำให้การทำงานของสมองมนุษย์บกพร่องได้
มีการตรวจพบเป็นครั้งแรกโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย (University of British Columbia) ในแคนาดาว่า การสัมผัสมลพิษจากการจราจรสามารถทำให้การทำงานของสมองมนุษย์บกพร่องได้ในทันที โดยพวกเขาได้นำเสนอหลักฐานพิเศษระหว่างคุณภาพอากาศและการรับรู้ของสมอง โดยตรวจวัดจากสถานการณ์ที่มีตัวแปรระหว่างผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ที่ได้สัมผัสควันจากเครื่องยนต์ดีเซล และนำไปตรวจวัดการทำงานด้วยเครื่อง fMRI (functional Magnetic Resonance Imaging) หรือเครื่องวัดการทำงานของสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก
ทั้งนี้ มีการตระหนักรู้ว่า มลพิษจากอากาศในพื้นที่เมืองมีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสมองมานานแล้ว แต่เป็นเรื่องยากในการจำแนกปัญหาสุขภาพจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศในมนุษย์ กับปัญหาสุขภาพจากโรคจำเพาะบางชนิดในเขตพื้นที่ที่มีมลพิษสูง
โดยการศึกษาสัตว์และตัวอย่างเซลล์จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า มลพิษในอากาศส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การทดสอบในห้องแล็บ มักจะไม่ตรงกับค่าการสัมผัสต่อเนื่องแบบเรื้อรังในโลกแห่งความเป็นจริง
ดังนั้น ในงานวิจัยใหม่ชิ้นนี้ นักวิจัยจึงเลือกให้อาสาสมัครได้สัมผัสกับควันพิษที่มีความเข้มข้นสูงในระยะเวลาหนึ่ง โดยกำหนดให้อาสาสมัครได้รับควันไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีส่วนผสมคล้ายกับควันไอเสียของยานพาหนะในช่วงหลายสิบปีที่แล้ว พร้อม ๆ กับการควบคุมความเข้มข้นของอนุภาคไอเสียดีเซล และทำให้เจือจางในระดับที่ใกล้เคียงกับการสัมผัสในชีวิตจริงกับมนุษย์ แต่ยังคงความปลอดภัย
โดยนักวิจัยกำหนดให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง 25 คน ต้องสัมผัสกับไอเสียดีเซลในห้องแล็บ และเปลี่ยนไปเป็นการสัมผัสอากาศที่ผ่านการกรองในระยะเวลา 2 ชั่วโมง พร้อม ๆ กับตรวจวัดการทำงานของสมองโดยใช้เครื่อง fMRI ก่อนและหลังการสัมผัสแต่ละครั้ง ซึ่งจุดสนใจหลักของการศึกษานี้ คือ การตรวจสอบผลกระทบของมลพิษทางอากาศจากการจราจร ต่อชิ้นส่วนของสมองส่วนเปลือกนอกที่เชื่อมต่อกัน หรือว่าเครือข่ายสมองพื้นฐาน (Default Mode Network) นี่คือซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรับรู้ ความจำ และอารมณ์ของมนุษย์
ที่มาของรูปภาพ University of British Columbia
ผลการวิจัยพบว่า การสัมผัสกับไอเสียดีเซลในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสมองลดลง เมื่อเทียบกับเคสของมนุษย์ที่ได้รับอากาศผ่านตัวกรอง โดยโจดี กอว์รีลุค (Jodie Gawryluk) ผู้รับผิดชอบงานวิจัยกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายสมองพื้นฐาน เชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าและการลดลงของความรู้ และความเข้าใจ
“เราพบว่า สภาวะระบบเครือข่ายสมองเริ่มต้นที่เปลี่ยนแปลงไป สัมพันธ์กับประสิทธิภาพการรับรู้ที่ลดลง และอาการของภาวะซึมเศร้า ซึ่งน่ากังวลที่มลพิษทางการจราจรรบกวนอวัยวะดังกล่าว”
“ ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพสมองส่วนนี้อย่างถ่องแท้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจทำให้ความคิดหรือความสามารถในการทำงานของผู้คนแย่ลง” กอว์รีลุคกล่าวสรุป
ด้านคริส คาร์ลสเทน (Chris Carlsten) นักวิจัยอาวุโสของการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่าผลกระทบระยะยาวของมลพิษประเภทนี้จะส่งผลต่อสมองของมนุษย์อย่างไร ในแง่บวก นักวิจัยพบว่าการทำงานของเครือข่ายสมองพื้นฐานกลับมาเป็นปกติค่อนข้างเร็วหลังจากได้รับควันดีเซล คาร์ลสเตนจึงทำได้เพียงตั้งสมมติฐานว่า ผลกระทบของการได้รับสัมผัสอย่างต่อเนื่องและเรื้อรังมากขึ้นจะส่งผลเสียอย่างไร
“ผู้คนอาจต้องระวังการอยู่ในพื้นที่จราจรติดขัด ที่จะสัมผัสมลพิษโดยตรงได้จากกระจกที่เปิดอยู่” คาร์ลสเทนกล่าว “ที่สำคัญคือ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไส้กรองอากาศในรถยนต์ของคุณอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี และหากคุณกำลังเดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามถนนที่มีผู้คนพลุกพล่าน ให้เลือกเปลี่ยนเส้นทางไปยังเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นน้อยกว่า”
งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ใน วารสาร Environment Health
ที่มาของข้อมูล newatlas
ที่มาของรูปภาพ Narathon Nettrakul
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67