TNN online จีนพัฒนาระบบสื่อสารเชื่อมต่อกับขีปนาวุธหรือเครื่องบินที่กำลังบินความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก

TNN ONLINE

Tech

จีนพัฒนาระบบสื่อสารเชื่อมต่อกับขีปนาวุธหรือเครื่องบินที่กำลังบินความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก

จีนพัฒนาระบบสื่อสารเชื่อมต่อกับขีปนาวุธหรือเครื่องบินที่กำลังบินความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก

นักวิจัยจากจีนโชว์พัฒนาระบบสื่อสารกับอุปกรณ์และเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง ฉีกมาตรฐานเดิมที่ไม่สามารถทำได้เพราะสมบัติทางฟิสิกส์

แม้ว่าคลื่นวิทยุจะไม่มีปัญหาในการเดินทางในอากาศ แต่วัตถุ เครื่องบิน หรืออาวุธที่อยู่บนอากาศด้วยความเร็วระดับเหนือเสียง (Hypersonic) ที่สูงมาก ๆ จะเกิดไฮเปอร์โซนิก พลาสมา (Hypersonic Plasma เป็นปรากฏการณ์ที่เศษชิ้นส่วนวัตถุซึ่งเสียดสีกับอากาศด้วยความเร็วสูงจะเปลี่ยนสถานะเป็นพลาสมา กลายเป็นฉนวนปิดกั้นคลื่นวิทยุที่ทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้ แต่นักวิจัยจากจีนกลับสามารถทลายขีดจำกัดด้านการสื่อสารนี้ได้แล้ว


งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ขีปนาวุธและยานอวกาศ (Missiles and Space Vehicles) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง โดยการวิจัยมุ่งเน้นไปที่การสร้างการติดต่อสื่อสารกับวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นในสภาพที่กำลังบินอยู่ด้วยความเร็วเหนือเสียงที่สูงมาก ๆ จนเกิดสภาวะไฮเปอร์โซนิก พลาสมา (Hypersonic Plasma) ที่ปกติทำให้วัตถุขาดการเชื่อมต่อ (Blackout Phase) เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง


ภาวะดังกล่าวนี้ทำให้ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินเสมือนว่าเป็นคนตาบอด และในระหว่างนั้นอาจเกิดปัญหาข้อผิดพลาดบางอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานหรือแม้แต่ชีวิตมนุษย์ได้ นักวิจัยจากปักกิ่งจึงอาศัยพื้นฐานโครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูงภายในประเทศมาใช้ทดสอบและพัฒนาโครงสร้างแบบใหม่ โดยในฝั่งวัตถุที่อยู่บนอากาศจะมีการติดตั้งติ่งหล่อเย็นที่ส่วนหัวของวัตถุ เช่น เครื่องบินความเร็วสูง หรือจรวด ติ่งดังกล่าวทำหน้าที่แหวกม่านพลาสมาที่ส่วนหัวของวัตถุนั้น ๆ เพื่อให้มีช่องทางสำหรับรับสัญญาณความถี่สูงจากภาคพื้นดิน


ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มนักวิจัยจึงเสนอว่าการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่นี้จะสามารถมาใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ความเร็วเหนือเสียง และฐานภาคพื้นดิน ตลอดจนเรือรบ และดาวเทียมได้ด้วยเช่นกัน โดยในงานวิจัยอ้างว่าสามารถติดต่อกับอุปกรณ์ความเร็วเหนือเสียงได้ภายใน 0.8 วินาที จากการทดสอบการทำงานที่ไม่ระบุจำนวนครั้งที่ชัดเจน พร้อมยังพัฒนาระบบตรวจสอบความถูกต้องของการสื่อสารและการป้องกันการดักฟังสัญญาณ อีกทั้งวางกรอบพัฒนาไปยังใช้ระบบ 5G ที่มีพื้นฐานมาจากเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่ชื่อว่าแกลเลียมไนไตรด์ (Gallium Nitride: GaN) ด้วยเช่นกัน


การวิจัยในครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การสื่อสารกับอุปกรณ์ความเร็วเหนือเสียง สอดรับกับการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนที่มุ่งเน้นไปยังระบบอาวุธความเร็วเหนือเสียง ทั้งเครื่องบิน จรวด ตลอดจนการพัฒนาเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง (Hypersonic Aircraft) ที่อ้างว่าสามารถเดินทางไปยังทุกจุดบนโลกภายในเวลา 1 ชั่วโมง ที่จะเปิดตัวให้บริการภายในปี 2035 อีกด้วย



ที่มาข้อมูล South China Morning Post

ที่มารูปภาพ Wikipedia

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง