TNN online เปรียบเทียบ 3 มาตรฐานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แตกต่างกันอย่างไร

TNN ONLINE

Tech

เปรียบเทียบ 3 มาตรฐานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แตกต่างกันอย่างไร

เปรียบเทียบ 3 มาตรฐานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แตกต่างกันอย่างไร

TNN Tech เปรียบเทียบมาตรฐานการทดสอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่วางขายในตลาดรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงวิธีการทดสอบ และตัวอย่างผลลัพธ์การทดสอบ

ทุกครั้งที่มีการเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ผู้คนจะคอยจับตาและตรวจสอบฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตรถนำเสนอ โดยเฉพาะระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จในแต่ละรอบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนที่ต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ระยะทางที่ประกาศกับระยะทางที่ขับได้จริงกลับมีความแตกต่างกัน รวมถึงยังมีการกล่าวอ้างมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบระยะทางวิ่ง เช่น NEDC หรือ WLTP และรถบางรุ่นอาจจะกล่าวถึงมาตรฐาน EPA อีกด้วย TNN Tech จึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเจาะลึกถึงรายละเอียดและที่มาที่ไปของการทดสอบทั้ง 3 มาตรฐาน


เปรียบเทียบ 3 มาตรฐานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แตกต่างกันอย่างไร


NEDC (New European Driving Cycle) เป็นมาตรฐานการทดสอบจากสหภาพยุโรปที่เกิดขึ้นมานานและปรับปรุงครั้งล่าสุดในปีที่ 1997 เดิมทีใช้เป็นมาตรฐานการทดสอบการปล่อยมลพิษและสมรรถภาพของรถยนต์ใช้น้ำมัน แต่ก็นำมาปรับปรุงใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย โดยจำลองการขับรถในเมืองและนอกเมืองภายในห้องปฏิบัติการ ด้วยความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาในการทดสอบทั้งหมด 20 นาที เป็นระยะทางรวมทั้งหมด 10.9 กิโลเมตร 


อย่างไรก็ตาม มาตรฐาน NEDC มีข้อจำกัดในเรื่องของการไม่คำนวณปัจจัยที่อยู่ในโลกความเป็นจริง อย่างเช่น แรงต้านอากาศ และสภาพการจราจร ซึ่งทำให้ระยะทางสูงสุดที่ทำได้ในการทดสอบอาจจะไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงเท่าที่ควร จึงเกิดมาตรฐานใหม่ที่ชื่อว่า WLTP (World harmonized Light-duty vehicles Test Procedure) ที่เริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 2015 โดยเพิ่มการจำลองสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการ เช่น อากาศ อุณหภูมิ สภาพการจราจร เพิ่มความเร็วในการทดสอบสูงสุดเป็น 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพิ่มระยะเวลาการทดสอบรวมเป็น 30 นาที เพิ่มระยะทางการทดสอบรวมมากกว่า 2 เท่าจาก NEDC ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงมากขึ้น


ในขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องผ่านการทดสอบจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency: EPA) ที่มีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการทดสอบสมรรถนะและการปล่อยมลพิษของรถยนต์ที่วางขายในสหรัฐฯ ทุกคัน โดยการทดสอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ EPA จะเน้นการใช้งานที่สมจริงมากที่สุด มีการจำลองสภาพในเมืองและบนทางด่วน การจำลองสภาพขับขี่ในอุณหภูมิภายนอกรถที่ร้อนและเย็นต่างกันมาก ๆ รวมถึงทดสอบการขับขี่โดยปิดและเปิดเครื่องปรับอากาศภายในรถ ด้วยระยะเวลาการทดสอบ 13 นาที ความเร็วสูงสุดที่ 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และระยะทางในการทดสอบรวม 16.5 กิโลเมตร


บีเอ็มดับเบิลยู ไอ เอ็กซ์ 3 (BMW iX 3) เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีวางจำหน่ายทั่วโลก ซึ่งในไทยจะใช้มาตรฐาน NEDC และ WLTP ในการทำการตลาด โดยมีระยะทางสูงสุดต่อการชาร์จในแต่ละครั้งอยู่ที่ 470 และ 461 กิโลเมตรตามลำดับ อย่างไรก็ตาม รถยนต์รุ่นนี้จะมีระยะทางตามมาตรฐาน EPA เพียง 320 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งมีข้อสังเกตว่าระยะทางที่ทดสอบตามเกณฑ์ของ EPA อาจจะใกล้เคียงกับระยะทางที่วิ่งได้จริงในสภาพอากาศเมืองไทยมากที่สุด


รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีระยะทางวิ่งไกลนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ตาม ระยะทางที่เพิ่มขึ้นก็ต้องแลกมากับขนาดของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลต่อน้ำหนัก การบำรุงรักษา และราคารถโดยตรง


ที่มาข้อมูล Lifewire

ที่มารูปภาพ Kindel Media บน Pexels


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง