TNN Woke อีกแล้ว? ปัญหาของ “กางเขนเซนต์จอร์จสีรุ้ง” บนปกเสื้อฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ

TNN

กีฬา

Woke อีกแล้ว? ปัญหาของ “กางเขนเซนต์จอร์จสีรุ้ง” บนปกเสื้อฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ

Woke อีกแล้ว? ปัญหาของ “กางเขนเซนต์จอร์จสีรุ้ง” บนปกเสื้อฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ

ปฏิกิริยาของ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ทันทีที่ได้เห็นการเปิดตัวชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ

“นี่พวกคุณมาทำวุ่นวายจุ้นจ้านอะไรกับธงชาติของเรา!”

เบื้องต้นคือปฏิกิริยาของ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ทันทีที่ได้เห็นการเปิดตัวชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ที่จะใช้ทำศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2024 

ซึ่งที่มีปัญหา คือ ตรงด้านหลังปกเสื้อ ที่ไนกี้ได้ทำการเปลี่ยนแปลงธงกางเขนเซนต์จอร์จ จากสีแดงที่คุ้นตาให้เป็น “สีรุ้ง” แน่นอน สีรุ้งในความหมายของโลกร่วมสมัย หมายถึงการเชิดชูคุณค่า “ความหลากหลายทางเพศ”

กระนั้น การเปลี่ยนสีธงที่เป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายไม่พอใจ เมื่อคิดว่าสิ่งดังกล่าวนั้นเป็นอะไรที่ “Woke” พร่ำเพรื่อ และเป็นการยัดเยียดเสียจนเกินไป 

ปัญหานี้มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร? 

เอากางเขนแดงของเราคืนมา!

“เมื่อนำธงชาติของเราไปใช้งาน [ในการออกแบบ] เราจะไม่ไปวุ่นวายจุ้นจ้านอะไร เพราะสิ่งนี้คือแหล่งที่มาแห่งความภาคภูมิใจ บ่งบอกรากเหง้าว่าเราเป็นใคร สิ่งนี้สมบูรณ์พร้อมในตนเองอยู่แล้ว”

ซูนัคได้เน้นย้ำเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ ลูซี เฟรเซอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งอังกฤษ ที่ได้ออกมาวิพากษ์ไนกี้ว่า กางเขนเซนต์จอร์จคือมรดกของเรา การมาทำเหมือนเป็นของเล่นแบบนี้ เป็นอะไรที่ไร้ค่าไร้ความหมายและไม่จำเป็น

รวมถึง เซอร์ เยก แบร์รี อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ก็ได้แสดงทรรศนะใน X ความว่า Woke คือความบ้าไปกันใหญ่แล้ว สมาคมฟุตบอลอังกฤษเปลี่ยนสีธงเดี๋ยวนี้เลย!

แน่นอน บรรดาแฟนฟุตบอลอังกฤษ ต่างคิดเห็นเช่นเดียวกัน โดยการแข่งขันล่าสุด ที่พลพรรคสิงโตคำราม เปิดบ้านรับการมาเยือนของบราซิล แฟนบอลได้แสดงพลังแปรอักษรเป็นรูปกางเขนเซนต์จอร์จ “สีแดง” เพื่อบ่งบอกว่า ไนกี้มาเปลี่ยนเป็นสีรุ้งนั้น เป็นอะไรที่ Woke และเลอะเทอะอย่างมาก

ในข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ “เป็นธรรมเนียมสืบเนื่อง (Tradition)” เป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะนั่นหมายถึงการ “หยามหมิ่น” เกียรติยศ ศักดิ์ศรี รากเหง้า หรืออัตลักษณ์บางอย่างที่สั่งสมมาช้านาน

หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือ “สะกิดใจ” บางอย่างเข้า ย่อมเกิดผลกระทบทางความรู้สึกที่ตามมาอย่างใหญ่หลวง ประหนึ่งไปสังหารญาติผู้ใหญ่ของเขาได้

แน่นอน ธงชาติในฐานะเครื่องแสดงถึงความภาคภูมิใจเชิงอัตลักษณ์ เมื่อนำมาทำการออกแบบใหม่ จึงเหมือนกับการ “นำของสูงมาเล่น” ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร หากคิดให้ใกล้ตัว หากท่านเห็นใครนำธงชาติไทยไปทำผ้าขี้ริ้ว ความรู้สึกไม่ดีย่อมเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

การที่คนอังกฤษเห็นธงชาติของตนเองเป็นสีรุ้ง ก็อาจมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน!

เป็นอะไรมากไหม!

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งฝ่ายผู้ผลิตอย่างไนกี้ หรือฝ่ายที่อนุมัติให้ออกแบบอย่างสมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ ได้ออกโรงสวนกลับทันควัน 

โดยไนกี้ได้ออกโรงโต้ว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นไปเพื่อ “เติมสีสัน” ให้กับชุดแข่งขันของอังกฤษ เราไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้ [ชาวอังกฤษ] รู้สึกไม่ดีแต่อย่างไร 

ส่วนทางด้านเอฟเอ ก็ได้กล่าวหนุนเสริม ความว่า สีสันดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากขลิบปกเสื้อของชุดฝึกซ้อมฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ เมื่อครั้งได้แชมป์โลกสมัยแรก [และสมัยเดียวจนถึงตอนนี้] เมื่อปี 1966 

กระนั้น การเปลี่ยนแปลงสีสันของกางเขนเซนต์จอร์จบนชุดแข่งขันของทีมชาติอังกฤษ ไม่ได้เป็นครั้งแรก เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 อัมโบร ผู้สนับสนุนชุดแข่งขันในตอนนั้น ก็ได้ทำการออกแบบ “ชุดผู้รักษาประตู” โดยมีลวดลายเป็นกางเขนนี้ โดยใช้ “สีเขียวมิ้นต์” 

หรือในชุดแข่งขันฟุตบอลชายโอลิมปิก ปี 2012 ของสหราชอาณาจักร ก็ได้มีการออกแบบลวดลายกางเขนดังกล่าว ให้เป็น “สีกรมท่า” เช่นกัน

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ จะเป็นเดือดเป็นร้อนอะไร เพียงแค่เติมสีรุ้งลงไปในกางเขนนี้? 

ตรงนี้ อาจจะต้องทำความเข้าใจกระแส “Woke” ที่เกิดขึ้นในโลกร่วมสมัยเพิ่มเติม 

Woke = ยัดเยียด?

ณ ปัจจุบันนี้ กระแส “Woke” เกิดขึ้นมาอย่างหนาตามาก โดยเฉพาะในวงการบันเทิง อย่างภาพยนตร์ดิสนีย์ ที่พยายามเปลี่ยนแปลง “ความดั้งเดิม (Original)” ของบทประพันธ์ที่อาจพิจารณาแล้วว่ามีความล้าสมัย เพื่อมาเอาใจความ “Woke” ดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น การปรับบทบาทให้แอเรียล แห่ง Little Mermaid เป็น “คนดำ” จากบทประพันธ์ดั้งเดิมที่เป็นคนขาว หรือกระทั่งสโนไวท์ ที่ใช้นักแสดงชาว “ละติน” เข้ามาแทน

คนที่ตามมานั่นคือ ภาพยนตร์ขาดทุนย่อยยับ เสียจนทางดิสนีย์ได้ออกมาว่าตั้งแต่นี้ อาจจะเลิก Woke ไปเลย

แน่นอน การหมายให้คนตระหนักรู้บางสิ่งบางอย่าง หรือถ้ากล่าวภาษาวัยรุ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “Educated” อาทิ ความกดขี่ ความไม่เท่าเทียม หรือความไม่เป็นธรรม เป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ 

แต่การกระทำที่ “มากจนเกินไป” ก็อาจเป็นปัญหาได้ว่า ผู้ที่กระทำนั้น กำลัง “ยัดเยียด” อะไรบางอย่างแก่สังคมหรือไม่? เป็นสิ่งที่น่าขบคิดอย่างมาก

บทความโดย: วิศรุต หล่าสกุล

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง