TNN online รู้จัก โรคแพนิค มีสาเหตุมาจากอะไร รักษาอย่างไร?

TNN ONLINE

สังคม

รู้จัก โรคแพนิค มีสาเหตุมาจากอะไร รักษาอย่างไร?

รู้จัก โรคแพนิค มีสาเหตุมาจากอะไร รักษาอย่างไร?

ทำความรู้จัก "โรคแพนิค" อาการ สาเหตุ เป็นอย่างไร ประเมินตนเองเบื้องต้นได้จากแบบทดสอบที่นี่

วันนี้( 14 ต.ค.64) หลังจากก่อนหน้านี้พิธีกรชื่อดัง "หนุ่ม กรรชัย" เผยว่าเคยเป็น "โรคแพนิค" ไม่ออกจากบ้านถึง 1 ปี วันนี้ TNN Online ได้นำ เรื่องราวเกี่ยวกับ โรคแพนิค มาให้ได้ทราบกันซึ่งเป็นข้อมูลจาก พญ.พรทิพย์ ศรีโสภิต โรงพยาบาลพระรามเก้า

โรคแพนิค (Panic Disorder) คืออะไร

โรคแพนิค คือ โรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง หรือเรียกว่า โรคตื่นตระหนก ผู้ที่เป็นมักมีความรู้สึกกลัว ตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก แบบไม่คาดคิดมาก่อน และเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และมีความกังวลว่าจะเป็นขึ้นมาอีก 

สาเหตุของโรคแพนิค มีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุทางกาย 

ปัจจัยด้านพันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล มีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในเครือญาติ

ปัจจัยด้านฮอร์โมนในร่างกาย : ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง  อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป เกิดเป็นโรคแพนิคได้

สาเหตุทางจิตใจ

ความเครียด ความวิตกกังวล พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้  เช่น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออยู่กับมือถือเป็นเวลานาน พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย หรือต้องเผชิญกับสภาวะกดดัน เป็นต้น

ผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสีย ผิดหวังรุนแรง

อาการของโรคแพนิค (Panic Disorder) มีอะไรบ้างและอาการร่วมกับโรคอื่นมีอะไรบ้าง ?

ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิค จะมีอาการที่เรียกว่า “panic attack” นั่นก็คือกลุ่มอาการตามที่ปรากฎอยู่ในแบบทดสอบข้างต้นตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไป โดยเกิดขึ้นซ้ำๆอย่างคาดการณ์ไม่ได้ และมีอาการอื่น ๆ ต่อเนื่องจากอาการเหล่านั้น เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน (หรือมากกว่า) ดังต่อไปนี้

1.กังวลว่าจะเกิดอาการขึ้นอีกอยู่ตลอดเวลา

2.กังวลว่าอาจเกิดโรคร้ายแรงหรือกังวลเกี่ยวกับผลติดตามมา (เช่น คุมตัวเองไม่ได้ เป็นโรคหัวใจ เป็นบ้า เป็นต้น)

3.พฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เช่น ไม่กล้าอยู่คนเดียว เพราะกลัวจะเกิดอาการขึ้น หรือไม่กล้าใช้ชีวิตประจำวันตามปกติที่เคยทำเป็นประจำ

เนื่องจากการเกิดอาการอาจมีอาการคล้ายกับโรคอื่นได้หลายอย่าง เช่น อาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น จึงจำเป็นต้องตรวจร่างกายเพื่อค้นหาโรคทางด้านร่างกายที่อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการนั้น ๆ ก่อน เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ หรือ ส่งเจาะเลือดวัดระดับไทรอยด์ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ แม้ว่าผลการตรวจร่างกายปกติดี ก็ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) เนื่องจากว่ายังมีโรคทางจิตเวชอื่นๆ สามารถเกิดอาการ panic attack ได้เช่นกัน ได้แก่  

-โรคกลัวที่ชุมชน หรือ Agoraphobia

กังวลต่อการเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่อาจหลีกเลี่ยงได้ลำบาก หรืออาจไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่น การออกนอกบ้านตามลำพัง การอยู่ท่ามกลางหมู่คนหรือยืนต่อแถว การอยู่บนสะพาน และการเดินทางโดยรถเมล์ รถไฟ หรือรถยนต์

-โรคกลัวเฉพาะอย่าง หรือ Specific Phobia: กังวลหรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อการอยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ หรือมีอาการต่อสถานการณ์เพียงไม่กี่สถานการณ์เท่านั้น  เช่น การขึ้นลิฟท์

-โรคกลัวสังคม หรือ Social Phobia: กังวลต่อการพบปะผู้คน อาจรู้สึกประหม่าหากต้องอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่ามีคนจับจ้องมาที่ตนเอง เช่น การพูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก

-โรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) เช่น บางคนหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกเนื่องจากหมกมุ่นกับการกลัวติดเชื้อโรค, โรคเครียดภายหลังจากเหตุการณ์ร้ายแรง (Posttraumatic Stress Disorder) เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับความกดดันที่รุนแรงนั้น หรือ โรควิตกกังวลจากการพรากจาก (Separation Anxiety Disorder) เช่น หลีกเลี่ยงการห่างจากบ้านหรือญาติ  รวมทั้งโรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า ก็สามารถเกิด panic attack ได้เช่นกัน

หากเป็นโรคแพนิค ต้องรักษาอย่างไร?

โรคแพนิค (Panic disorder) ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง หรือทำให้มีอันตรายถึงชีวิต แต่ทำให้เกิดความกังวลกับผู้ที่เป็น และต้องรักษาหากกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยปกติ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ 

การรักษาด้วยยา

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคแพนิค ดังนั้นการรับประทานยา เพื่อไปปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจึงมีความจำเป็น และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 8-12 เดือน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคของแต่ละบุคคล จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคนี้ สามารถหายขาดได้

การรักษาทางใจ คือการทำจิตบำบัดประเภทปรับความคิดและพฤติกรรม ซึ่งมีหลายวิธี เช่น

-ฝึกหายใจในผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจเข้า – ออกลึก ๆ ช้า ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการ โดยหายใจเข้าให้ท้องป่องและหายใจออกให้ท้องยุบในจังหวะที่ช้า ซึ่งจะทำให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว หลังจากนั้นร่างกายจะเริ่มผ่อนคลายและอาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง

-รู้เท่าทันอารมณ์ของตน ตั้งสติ บอกกับตัวเองว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นแค่เรื่องชั่วคราว สามารถหายได้และไม่อันตรายถึงแก่ชีวิต

-การฝึกการคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศรีษะ หรือปวดตึงกล้ามเนื้อ

-การฝึกสมาธิ

-การฝึกคิดในทางบวก

แบบทดสอบเพื่อประเมินโรคแพนิค

สามารถประเมินตนเองเบื้องต้นได้จากแบบทดสอบนี้ ว่ามีความกลัววิตกกังวลหรือความอึดอัดไม่สบายใจอย่างรุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอาการในหัวข้อต่อไปนี้ ตั้งแต่ 4 อาการขึ้นไป ซึ่งอาการในหัวข้อดังกล่าว

1.ใจสั่น ใจเต้นแรง หรือใจเต้นเร็วมาก 

2.เหงื่อแตก 

3.ตัวสั่น มือเท้าสั่น

4.หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจขัด 

5.รู้สึกอึดอัด หรือแน่นอยู่ข้างใน 

6.เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก 

7.คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน 

8.วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ หรือเป็นลม 

9.ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ เหมือนจะเป็นไข้

10.รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ (paresthesia)

11.รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป (derealization หรือ depersonalization)

12.กลัวคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวเป็นบ้า

13.กลัวว่าตนเองกำลังจะตาย

 


ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.พรทิพย์ ศรีโสภิต โรงพยาบาลพระรามเก้า 

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง