TNN online กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจ "ซูชิเรืองแสง" พบปนเปื้อนแบคทีเรีย

TNN ONLINE

สังคม

กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจ "ซูชิเรืองแสง" พบปนเปื้อนแบคทีเรีย

กรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจ ซูชิเรืองแสง พบปนเปื้อนแบคทีเรีย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจวิเคราะห์ "ซูชิเรืองแสง" พบปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเรืองแสงในที่มืด แนะไม่ควรกิน ส่งผลต่อสุขภาพ หากบริโภคในปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้

จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพข้าวปั้นซูชิหน้ากุ้ง ที่ซื้อมาจากร้านแห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีสีเรืองแสง และไม่แน่ใจว่าจะทานได้หรือไม่ จากนั้นโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปและมีการร้องเรียนไปยังสื่อมวลชน และเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้นำตัวอย่างซูชิ 1 กล่องที่ได้รับการร้องเรียน จำนวน 5 ชิ้น มีหน้ากุ้งดิบ 1 ชิ้น ส่งให้กรมวิทยาศาสตรก์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ และมีตัวอย่างซูชิหน้ากุ้งสุกที่อีก 1 ตัวอย่าง ที่ อย.ได้เก็บตัวอย่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งเดียวกัน มาส่งตรวจพร้อมกัน 

ล่าสุด วันนี้ (1 ส.ค.63) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งตรวจสอบโดยสังเกตการเรืองแสงของตัวอย่างภายใต้ที่มืด ไม่พบการเรืองแสงทั้ง 2 ตัวอย่าง จากนั้นนำตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธีเพาะเชื้อ โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบและบ่มเพาะเชื้อที่ 20 องศาเซลเซียส

ผลปรากฎว่า พบการปนเปื้อนของแบคทีเรียเรืองแสงในที่มืด ซึ่งหลังจากนนี้จะนำเชื้อไปตรวจยืนยันอีกครั้งเพื่อให้ทราบชนิดของเชื้อแบคทีเรียเรืองแสง 

สำหรับการเรืองแสงในที่มืด (Bioluminescense) พบในอาหารทะเลหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเรืองแสง ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลหรือมหาสมุทร 

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจพบแบคทีเรียเรืองแสงในซูชิทั้ง 2 ตัวอย่าง น่าจะมาจากกุ้งที่นำมาแต่งหน้า สาเหตุอาจมาจากการปนเปื้อนตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ สำหรับกุ้งดิบ คาดว่าได้ผ่านกระบวนการผลิตบางอย่างเพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์มาระดับหนึ่ง เช่น แช่ในสารละลายคลอรีน แต่อาจมีการปฏิบัติที่ไม่เพียงพอ หรือหากเป็นหน้ากุ้งสุก อาจต้มสุกไม่ทั่วถึง ทั้ง 2 ตัวอย่าง จึงมีเชื้อแบคทีเรียเรืองแสงหลงเหลืออยู่

นอกจากนี้ อาจจะเกิดจากสุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดีของการทำซูชิ ทำให้เกิดการปนเปื้อนจากอาหารทะเลดิบอื่นๆมายังซูชิที่พร้อมบริโภค โดยผ่านมือของผู้เตรียมซูชิเอง หรืออุปกรณ์เครื่องครัวที่ไม่สะอาด ทั้งนี้ซูชิที่ปนเปื้อนเชื้ออาจไม่เห็นการเรืองแสง เพราะกระบวนการเรืองแสงที่จะมองเห็นได้ในที่มืด ต้องมีปริมาณเชื้อมากพอ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการก่อโรคในคนจากเชื้อแบคทีเรียเรืองแสงในที่มืด แต่ไม่ควรบริโภคอาหารที่เรืองแสง เพราะการเรืองแสง บ่งชี้ได้ว่าอาหารมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเรืองแสงในปริมาณสูง ซึ่งทำให้อาหารเกิดการเน่าเสียได้ อาหารทะเลที่เน่าเสียอาจเป็นพิษต่อผู้บริโภค เนื่องจากเกิดสารฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สร้างโดยแบคทีเรีย สารนี้ทนความร้อน และถ้าบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจเสียชีวิตได้


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง