TNN online เตือนภัย! "สลิปปลอม" โอนเงินผ่านมือถือ เปิดพฤติกรรมมิจฉาชีพ-วิธีป้องกัน

TNN ONLINE

สังคม

เตือนภัย! "สลิปปลอม" โอนเงินผ่านมือถือ เปิดพฤติกรรมมิจฉาชีพ-วิธีป้องกัน

เตือนภัย! สลิปปลอม โอนเงินผ่านมือถือ เปิดพฤติกรรมมิจฉาชีพ-วิธีป้องกัน

รัฐบาล เตือนพ่อค้าแม่ค้า ระวังกลโกง ปลอมสลิปโอนเงินผ่านมือถือ แนะตรวจสอบเทียบกับยอดแจ้งเตือนจากธนาคารทุกครั้ง หรือสแกน QR Code บน E-slip เพื่อความชัวร์

รัฐบาล เตือนพ่อค้าแม่ค้า ระวังกลโกง ปลอมสลิปโอนเงินผ่านมือถือ แนะตรวจสอบเทียบกับยอดแจ้งเตือนจากธนาคารทุกครั้ง หรือสแกน QR Code บน E-slip เพื่อความชัวร์


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันพบมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ด้วยการปลอมสลิปโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่นธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ได้ใช้ความระมัดระวัง 


ทั้งนี้ กลวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพมีหลากหลายกลวิธี รวมถึงมีการซื้อขายโปรแกรมแก้ไขข้อมูลสลิปโอนเงินบนแอปฯธนาคาร เพื่อปลอมสลิปการโอนเงิน ซึ่งข้อมูลบนสลิปปลอมดังกล่าว ดูคล้ายกับสลิปที่มีการโอนเงินจริง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อผู้รับโอน วันที่ เวลา และจำนวนเงิน เมื่อแสดงให้กับพ่อค้าแม่ค้าหลังทำการซื้อขายแล้ว หากไม่ตรวจสอบอย่างรัดกุม ก็อาจจะโดนหลอกด้วยสลิปปลอมได้ 


สำหรับพฤติกรรมของมิจฉาชีพรูปแบบนี้ มักหลอกซื้อสินค้าราคาแพงที่สามารถขายต่อได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงซื้อสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคในจำนวนมาก โดยมักแสดงท่าทางเร่งรีบหลังหลอกโอนเงินและแสดงสลิปปลอม เพื่อให้ผู้ค้าไม่มีเวลาในการตรวจสอบ ว่าได้มีการโอนเงินจริงหรือไม่ ยิ่งร้านค้าที่ไม่ได้ใช้บริการแจ้งเตือนการโอนเงินของธนาคาร ก็จะยิ่งเพิ่มช่องทางให้ถูกกลอกโดยง่าย


พ่อค้าแม่ค้าสามารถป้องกันการถูกหลอกลวงได้ด้วยการใช้บริการแจ้งเตือนของธนาคาร ซึ่งจะแจ้งเตือนเมื่อมียอดเงินเข้าบัญชี สามารถนำไปเทียบยอดเงินกับสลิปได้ โดยควรตรวจสอบทุกครั้งหลังได้รับการโอนเงิน รวมถึง สแกน QR CODE บนสลิปโอนเงินแบบ E-Slip เพื่อตรวจสอบ ชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันและเวลาที่โอนเงินได้ หากยอดเงินไม่ตรง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยว่าเป็นสลิปปลอม พร้อมกันนี้ ยังควรสังเกตความละเอียดของตัวเลขหรือตัวหนังสือ หากเป็นสลิปปลอม แบบของตัวหนังสือบนสลิปในส่วนของชื่อผู้โอน จำนวนเงิน วันที่ เวลา อาจจะเป็นตัวหนังสือคนละแบบ หรือความหนา บางของตัวอักษรจะไม่เท่ากัน 


หากประชาชนพบพฤติกรรมการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ผู้ที่กระทำหรือใช้สลิปปลอม ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและการปกปิดข้อความจริง โดยความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




แฟ้มภาพ ตำรวจสอบสวนกลาง/TNN Online

ข่าวแนะนำ