เตือนอันตรายจาก "ตู้เย็นระเบิด" แนะ 10 ข้อควรระวังการใช้เพื่อความปลอดภัยจะช่วยลดอุบัติเหตุได้
จากกรณีที่มีข่าวการเกิดเหตุระเบิดในจังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเรือนประชาชนหลายหลังพังเสียหาย เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุมาจากตู้เย็นระเบิด อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แนะชัดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และมีคำถามว่า ตู้เย็นมีโอกาสเกิดระเบิดได้จริง หรือไม่
เรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ยืนยันว่า ตู้เย็นมีโอกาศระเบิดได้จริง ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีข่าว "ตู้เย็นระเบิด" เกิดขึ้นแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ และเคยเกิดขึ้นรุนแรงระดับที่ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายได้ ซึ่งสาเหตุเป็นไปได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
1. ไฟฟ้าลัดวงจร : ส่วนมากจะเกิดการลุกไหม้จากปลั๊กและสายไฟ ทำให้เปลวเพลิงลามมาถึงตัวของตู้เย็น เมื่อตู้เย็นลุกไหม้ เกิดการระเบิดขึ้น
2. คอมเพรสเซอร์ระเบิด : เป็นกรณีที่พบได้เช่นกันและจะเห็นร่องรอยการระเบิดที่ด้านหลังของตู้เย็น ซึ่งเดกิดจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป หรือได้รับความร้อนจากเพลิงไหม้
3. เกิดจากแรงดันของก๊าซ หรือแอลกอฮอล์ : การที่นำเครื่องดื่มที่มีก๊าซ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ หรือแม้แต่น้ำหอม ไปแช่ในช่องฟรีซ (Freeze)หรือช่องแข็ง ก็อาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากแรงดันของก๊าซในเครื่องดื่มมีอยู่มาก ยิ่งมีหลายขวด ก็จะยิ่งเพิ่มความแรงขึ้น
อาจารย์เจษฎา ได้แนะ 10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็น เพื่อความปลอดภัยลดอุบัติเหตุ ดังนี้
1. อย่าใช้งานตู้เย็น ในแบบที่ทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป : เช่น การอัดแช่ของในตู้แน่นเกินไป , การแช่ของน้อย ปล่อยให้ตู้โล่งเกินไป , การนำของร้อนไปแช่เย็น เป็นต้น
2. ควรเดินสายดิน : การเดินสายดิน ช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
3. ตั้งตู้เย็นให้เหนือระดับน้ำ : สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้น้ำหรือมีน้ำท่วมถึงแนะนำให้ยกระดับตู้เย็นขึ้น โดยใช้ขารองตู้เย็น เพื่อช่วยยกระดับขึ้นให้เหนือน้ำ
4. ไม่กระตุกปลั๊กตู้เย็น : ในการดึงปลั๊กตู้เย็น ควรจับที่ตัวจับปลั๊ก ไม่ควรกระตุกจากสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดด้านใน และอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้
5. ไม่เปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตัวเอง : หากไม่มีพื้นฐานในการซ่อมตู้เย็น เพราะอาจทำให้สายไฟรั่วขาดระหว่างซ่อมได้ หรือทำให้เกิดการรั่วของสารทำความเย็น เป็นต้น
6. ไม่ใช้น้ำล้างตู้เย็น : การล้างตู้เย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง เช็ดตู้เย็น หรือเช็ดกำจัดกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชูผสมน้ำ ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีสารเคมีมาเช็ดทำความสะอาดตู้เย็น
7. ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง : หากปิดตู้เย็นไม่สนิท จะทำให้ความร้อนเข้าไปด้านใน ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ของในตู้เย็นไม่เย็น และทำให้กินไฟ
8. ควรเสียบปลั๊กกับเต้ารับโดยตรง : ไม่ควรเสียบปลั๊กตู้เย็นกับปลั๊กสามตาหรือใช้ร่วมกับปลั๊กอื่น
9. ไม่ควรเก็บของที่มีสารเคมี หรือวัตถุไวไฟ ไว้ในตู้เย็น : เช่น สีหรือยาบางชนิด สารไวไฟ น้ำหอมที่ไม่มีฝาปิดสนิท เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้
10. หมั่นเช็กความผิดปกติของตู้เย็น : หากมีเสียงดังมาก มีความร้อนบริเวณข้างตู้มากเกินไป หรือมีกลิ่นอะไรแปลก ๆ อาจจะเป็นสัญญาณถึงความไม่ปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรตามช่างมาตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ แนะนำการเลือกซื้อตู้เย็น ควรเลือกยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ และมีการรับประกันและบริการหลังการขายด้วย
ข้อมูล Facebook : Jessada Denduangboripant
ภาพ : Getty , ทีมกราฟิก TNN