TNN online ปิดฉาก "7 วันอันตรายปีใหม่ 2566" เสียชีวิต 317 ราย จังหวัดไหนมากสุด?

TNN ONLINE

สังคม

ปิดฉาก "7 วันอันตรายปีใหม่ 2566" เสียชีวิต 317 ราย จังหวัดไหนมากสุด?

ปิดฉาก 7 วันอันตรายปีใหม่ 2566 เสียชีวิต 317 ราย จังหวัดไหนมากสุด?

ศปถ. สรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตายเทศกาลปีใหม่ 2566 มีผู้เสียชีวิต 317 ราย บาดเจ็บ 2,437 ราย เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง

ศปถ. สรุปอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตายเทศกาลปีใหม่ 2566 มีผู้เสียชีวิต 317 ราย บาดเจ็บ 2,437 ราย เกิดอุบัติเหตุ 2,440 ครั้ง


วันนี้ (5 ม.ค.66) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 ช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,437 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย ทั้งนี้ ศปถ.ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยกำชับจังหวัดถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุดผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ 


นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 241 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 253 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.85 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 24.48 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.24 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.06 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 48.96 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 24.48 


ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 17.00 น. ร้อยละ 8.71 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40 - 49 ปี ร้อยละ 16.19 มีการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,880 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 55,749 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 327,401 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 49,072 ราย 


โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่  สงขลา (13 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (15 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา สุราษฎรานี และอุดรธานี (จังหวัดละ 2 ราย) 


สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.65 – 4 ม.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,437 คน ผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ สุราษฎร์ธานี (79 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (81 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (15 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส บึงกาฬ พังงา สตูล และสุโขทัย 

ปิดฉาก 7 วันอันตรายปีใหม่ 2566 เสียชีวิต 317 ราย จังหวัดไหนมากสุด?


นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีอัตราการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ซึ่งกว่า 70 % ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีปัจจัยเสี่ยงจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้กำชับจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุดผ่านกลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ 


โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วันของการรณรงค์จะสิ้นสุดลง แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายยังต้องร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัยตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ศปถ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ด้วยความทุ่มเท เสียสละ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง 


นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ประสานทุกหน่วยงานจะนำสถิติอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงาน มาวิเคราะห์ ปรับปรุงพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในทุกมิติ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด





ภาพจาก ปภ. / ผู้สื่อข่าวโคราช

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง