TNN online มนุษยชาติลุ้น ! พบสิ่งมีชีวิต ในทะเลสาบบนดาวอังคาร

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มนุษยชาติลุ้น ! พบสิ่งมีชีวิต ในทะเลสาบบนดาวอังคาร

มนุษยชาติลุ้น ! พบสิ่งมีชีวิต ในทะเลสาบบนดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์พบทะเลสาบน้ำเค็ม 3 แห่ง บริเวณขั้วใต้พื้นผิวดาวอังคาร จุดประกายความหวังพบสิ่งมีชีวิต

วันนี้ ( 1 ต.ค. 63 )ดร.โรเบิร์ต โอโรเซ แห่งสถาบันฟิสิกส์อวกาศแห่งชาติของอิตาลี ในเมืองโบโลญญา เปิดเผยการค้นพบร่องรอยทะเลสาบ 3 แห่งอยู่ใต้พื้นผิวบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดาวอังคาร นอกจากนี้ยังอาจมีทะเลสาบแห่งที่ 4 บนดาวอังคารด้วย  


นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อหลายพันล้านปีก่อนมีน้ำไหลในแม่น้ำ และมีทะเลสาบที่มีน้ำอยู่เต็มบนพื้นผิวดาวอังคาร แต่เมื่อเกิดสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ของเหลวบนพื้นผิวจึงหายไปหมด


อย่างไรก็ตาม คาดว่าน้ำในทะเลสาบมีความเค็มสูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายในการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วหรือจุลินทรีย์ โดยน้ำ หรือของเหลวมีความสำคัญอย่างมากในทางชีววิทยา นับเป็นความหวังของบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาว่ามีสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากมนุษย์ในระบบสุริยะหรือไม่


เมื่อปี 2561 นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลจากเรดาร์มาร์ซิส ในช่วงปี 2555 และ 2558 ที่บ่งชี้ว่ามีแนวทะเลสาบความกว้าง 20 กิโลเมตรบนพื้นผิวดาวอังคาร  ฝังอยู่ใต้พื้นผิว ลึกลงไปกว่า 1 กิโลเมตร  บริเวณ 1.5 กิโลเมตรใกล้ขั้วใต้ ซึ่งเป็นชั้นหนาทับเกิดขึ้นจากการก่อตัวของน้ำแข็งและฝุ่น แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการยืนยันการค้นพบในครั้งนั้น.


มนุษยชาติลุ้น ! พบสิ่งมีชีวิต ในทะเลสาบบนดาวอังคาร


นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า การค้นพบครั้งสำคัญนี้มาจากการใช้ข้อมูลการสำรวจของอุปกรณ์เรดาร์มาร์ซิส(MARSIS) บนยาน "มาร์ส เอ็กซ์เพรส" ของสำนักงานอวกาศยุโรป (หรือ ESA) ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวอังคาร ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2546


อุปกรณ์ชื่อว่า “MARSIS” ทำงานคล้ายกับเรดาร์ คือ การส่งคลื่นวิทยุไปยังตำแหน่งเป้าหมาย และเมื่อคลื่นดังกล่าวสะท้อนกลับมาจะสามารถระบุสภาพของสสารบริเวณนั้นได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการค้นหาธารน้ำแข็งใต้ผิวโลก หมายความว่า เรายังไม่ได้เจอน้ำที่เป็นของเหลวจริง ๆ แต่เจอหลักฐานที่บ่งชี้ว่า อาจมีทะเลสาบขนาดใหญ่ฝังอยู่ใต้พื้นผิวดาว


อย่างไรก็ดี ยังคงมีการถกเถียงกันในผลการวิจัยครั้งนี้ เนื่องจากดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่ตายแล้ว กล่าวคือ แก่นกลางที่เป็นแหล่งผลิตความร้อนใต้พื้นผิวดาวได้เย็นตัวลงไปนานแล้ว จึงไม่น่ามีความร้อนเพียงพอให้น้ำคงสภาพเป็นของเหลวได้ ทำให้ต้องรอลุ้นยานเพอร์เซเวียแรนส์ ที่นาซ่าปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดแหลมคานาเวรัล ในรัฐฟลอริดาเมื่อวันที 30 ก.ค. 63  เพื่อปฏิบัติภารกิจศึกษาทางธรณีวิทยาและชีวดาราศาสตร์บนดาวอังคาร ในโครงการ MARS 2020 ของนาซาโดยจะลงจอด  บริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร ซึ่งเป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์ของนาซา คาดว่าเคยเป็นแหล่งน้ำมาก่อน และเชื่อว่าน่าจะมีร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่บนดาวอังคาร


ปัจจุบัน ยานเพอร์เซเวียแรนส์ มีกำหนดถึงดาวอังคาร ในวันที่ 18 ก.พ. 2564   ซึ่งตอนนี้  เหลือประมาณ 187 ล้านไมล์ หรือประมาณ 300 ล้านกิโลเมตร จากระยะทางรวม 470 ล้านกิโลเมตร


ความคืบหน้าทางฟากฝั่งของ ยานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 ของ กรมการบินอวกาศแห่งชาติจีนจนถึงขณะนี้ ได้บินอยู่ในวงโคจรที่กำหนด  ห่างจากโลกประมาณ  24.10 ล้านกิโลเมตร ระยะทางบินประมาณ 188 ล้านกิโลเมตร ซึ่งถือว่าใกล้ดาวอังคารมากกว่าของ นาซ่า   ระบบต่างๆ ของเทียนเวิ่น-1 ทำงานด้วยดี ศูนย์ควบคุมสื่อสารและสถานีติดตามในภาคพื้นดินต่างๆ ทำงานเป็นปกติ หลังจากก่อนหน้านี้ระบบได้ปรับแก้ วงโคจรระหว่างเดินทางมาแล้ว2ครั้ง


เนื่องในโอกาสวันชาติของประเทศจีนตรงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ 1 ตุลาคม ยานเทียนเวิ่น-1 ได้ถ่ายภาพเซลฟี่ ยานตัวเอง  ซึ่งแสดงให้เห็นธงชาติจีนสีแดง ประดับที่ยานอวกาศสีทอง ที่โดดเด่นในห้วงอวกาศ


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline


ข่าวที่เกี่ยวข้อง