TNN online รู้จัก! "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 โคจรใกล้โลกก่อนเลือกตั้งมะกัน

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รู้จัก! "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 โคจรใกล้โลกก่อนเลือกตั้งมะกัน

รู้จัก! ดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 โคจรใกล้โลกก่อนเลือกตั้งมะกัน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ พาทำความรู้จัก "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 โคจรใกล้โลกก่อนวันชิงปธน.สหรัฐ

วันนี้(30 ส.ค.63) NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีกระแสข่าวจะมีดาวเคราะห์ใกล้โลกอีกครั้งช่วงปลายปี

โดยระบุข้อความว่า "เกิดกระแสข่าวดาวเคราะห์น้อยชนโลกอีกครั้ง ครั้งนี้พูดถึง "ดาวเคราะห์น้อย 2018" VP1 ซึ่งจะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ก่อนหน้าวันเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาเพียง 1 วัน แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายต่อโลกค่อนข้างน้อยมาก เนื่องจากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2 เมตร ซึ่งหากพุ่งเข้าชนโลกจริง ก็เป็นไปได้ที่จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศเกือบหมดก่อนลงสู่พื้นโลก

ดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 จัดอยู่ในประเภทวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) ค้นพบเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 โดยโครงการสำรวจท้องฟ้า Zwicky Transient Facility (ZTF) จากการติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลกล้องดูดาวขนาดใหญ่ของหอดูดาวพาโลมาร์ (Palomar Observatory) ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากค้นพบและได้รับการยืนยันเป็นดาวเคราะห์น้อย ได้นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ของ NASA Jet Propulsion Laboratory (NASA JPL) ก่อนจะร่วมกับศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเข้าใกล้โลกในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ห่างจากโลก 400,000 กิโลเมตร (ไกลกว่าระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงจันทร์) และมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก ประมาณร้อยละ 0.41

ทั้งที่รู้ว่ามันมีโอกาสชนแต่เหตุใดจึงไม่แจ้งเตือน?

#เหตุผลแรก คือ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2 เมตร ซึ่งขนาดดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นภัยอันตราย (ระดับความอันตรายอยู่ที่ 0 ตาม "โตริโนสเกล" หน่วยวัดความรุนแรงของภัยพิบัติบนโลกที่เกิดจากการชนวัตถุจากนอกโลก) หากเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วตามที่คำนวณไว้ประมาณ 53,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความร้อนที่เกิดขึ้นจะทำให้ดาวเคราะห์น้อยลุกไหม้จนหมด ไม่เหลือถึงพื้นโลก

#เหตุผลที่สอง คือ ข้อมูลวงโคจรล่าสุดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เป็นข้อมูลแรกที่บันทึกไว้ขณะเพิ่งค้นพบในเดือนพฤศจิกายน 2561 หลังจากนั้นมาไม่มีผลการสำรวจเพิ่มเติมเนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าใกล้กับดวงอาทิตย์ตลอด และความสว่างต่ำมากจนไม่สามารถสังเกตการณ์ได้จากกล้องโทรทรรศน์บนโลก จึงหมายความว่าผลการคำนวณตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ล่าสุดในวันที่ดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 เข้าใกล้โลกที่สุดจะห่างจากโลก ประมาณ 400,000 กิโลเมตร (0.00271 AU) และเป็นไปได้ว่าอาจจะเฉียดไปด้วยระยะห่างที่มากถึงหลายล้านกิโลเมตร ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะชนโลกคือร้อยละ 0.41 ซึ่งในทางกลับกัน หมายความว่าโอกาสที่จะไม่ชนโลกก็สูงถึงร้อยละ 99.59

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มนุษย์ได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดจากวัตถุนอกโลกไว้หลายครั้ง แม้จะยังไม่เคยบันทึกว่ามีผู้เสียชีวิตหรือเกิดหายนะครั้งใหญ่ แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังคงจับตาวัตถุใกล้โลกเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพราะโอกาสที่พุ่งชนของวัตถุเหล่านั้นไม่เคยเป็นศูนย์

สำหรับดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 และเนื่องจากเป็นวันก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จึงกลายเป็นประเด็นขึ้นมาซึ่งทางนักดาราศาสตร์ก็จะเฝ้าติดตามดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ"



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE