TNN online พบหลุมอุกกาบาตแฝดบนดวงจันทร์ ยาว 28 เมตร จากการพุ่งชนของวัตถุปริศนา

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

พบหลุมอุกกาบาตแฝดบนดวงจันทร์ ยาว 28 เมตร จากการพุ่งชนของวัตถุปริศนา

พบหลุมอุกกาบาตแฝดบนดวงจันทร์ ยาว 28 เมตร จากการพุ่งชนของวัตถุปริศนา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย ได้รับการยืนยันแล้วว่า มีการพบหลุมอุกกาบาตแฝดบนดวงจันทร์ ซึ่งน่าจะเป็นที่พำนักสุดท้ายของวัตถุปริศนาที่ชนดวงจันทร์ไปในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาอย่างถาวร

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย ได้รับการยืนยันแล้วว่า มีการพบหลุมอุกกาบาตแฝดบนดวงจันทร์จากการชนของวัตถุปริศนา โดยเรื่องราวดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นเมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา

หากใครได้ติดตามข่าว คงเคยได้ยินเรื่องราวของวัตถุปริศนาที่ในตอนแรกคาดว่าอาจจะเป็นชิ้นส่วนจรวด Falcon-9 ของ SpaceX แต่ต่อมาคาดว่าอาจจะเป็นจรวด 2014-065B จากภารกิจฉางเอ๋อ 5-T1 ของจีน ที่ชนเข้ากับพื้นผิวของดวงจันทร์ไปในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการชนนี้เกิดขึ้นในด้านไกลของดวงจันทร์ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากโลก จึงไม่มีผู้ใดที่สามารถพบเห็นการชนกันนี้ได้

จนกระทั่งวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา The Lunar Reconnaissance Orbiter Camera (LROC) เป็นกล้องที่ติดกับยานสำรวจอวกาศ Lunar Reconnaissance Orbiter (LRO) โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ 

ได้เปิดเผยภาพหลุมอุกกาบาตแฝดหลุมใหม่ ที่บันทึกได้ในวันที่ 21 พฤษภาคม เมื่อเทียบกับภาพถ่ายจากบริเวณเดียวกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ก่อนหน้านั้นยังไม่มีปรากฏมาก่อน จึงยืนยันได้ว่าเป็นหลุมอุกกาบาตที่เพิ่งเกิดใหม่ในปีนี้ 

ซึ่งช่วงระยะเวลา บวกกับตำแหน่งของหลุมที่ประจวบเหมาะกับตำแหน่งการชนที่ทำนายเอาไว้ของวัตถุปริศนา จึงอาจยืนยันได้ว่าหลุมอุกกาบาตแฝดนี้ น่าจะเป็นที่พำนักสุดท้ายของวัตถุปริศนาที่ชนดวงจันทร์ไปในวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาอย่างถาวร

สิ่งที่น่าแปลกประหลาดที่สุดสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับการค้นพบนี้คือ สภาพของหลุมอุกกาบาตที่เป็นลักษณะหลุมแฝด มีเส้นผ่านศูนย์กลางของหลุมในทางทิศตะวันออกที่ 18 เมตร 

ในขณะที่หลุมทางทิศตะวันตกมีขนาด 16 เมตร สองหลุมนี้ซ้อนกันอยู่มีความยาวรวม 28 เมตร ซึ่งหลุมอุกกาบาตแฝดที่เกิดจากการชนของชิ้นส่วนยานอวกาศนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยค้นพบมาก่อน

ปัจจุบัน LRO เป็นเพียงหนึ่งในยานสำรวจอวกาศไม่กี่ลำ ที่สามารถถ่ายภาพพื้นผิวดวงจันทร์ที่ละเอียดที่สุด และสามารถสังเกตเห็นหลุมอุกกาบาตที่เกิดจากการชนกันของชิ้นส่วน S-IVB โครงการอพอลโลนั้นมีขนาดหลุมใกล้เคียงกัน

แม้ว่าหลุมที่เกิดจาก S-IVB จะมีรูปร่างไม่สมมาตรเท่าใดนัก แต่ก็ไม่เคยมีหลุมใดที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับหลุมแฝดที่เกิดขึ้นจากวัตถุปริศนานี้เลย เป็นไปได้ว่าวัตถุที่ชนนี้ อาจจะมีมวลส่วนมากกระจายตัวอยู่ในส่วนปลายทั้งสอง

แม้ว่าทุกวันนี้ ตัวตนของวัตถุปริศนาที่พุ่งชนดวงจันทร์นั้นจะยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่รูปร่างอันแปลกประหลาดของหลุมนี้อาจจะช่วยระบุขอบเขตที่เป็นไปได้ของวัตถุปริศนานี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

พบหลุมอุกกาบาตแฝดบนดวงจันทร์ ยาว 28 เมตร จากการพุ่งชนของวัตถุปริศนา

ภาพ: ภาพของหลุมอุกกาบาตแฝดที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่จากการชนของวัตถุปริศนาในวันที่ 4 มีนาคม 2565 กับพื้นผิวของดวงจันทร์ด้านไกลในบริเวณใกล้กับหลุมอุกกาบาตเฮิรตซ์สปรุง โดย Lunar Reconaissance Orbiter Camera (LROC) ภาพโดย NASA/GSFC/Arizona State University

เรียบเรียง : ดร.มติพล ตั้งมติธรรม - นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:

[1] http://lroc.sese.asu.edu/posts/1261

[2] https://www.facebook.com/photo/?fbid=306834184820464

[3] https://www.facebook.com/photo/?fbid=313118754192007

ข่าวที่เกี่ยวข้อง