ตลกอาชีพ: เมื่อ “ความมั่งคั่ง” และ “ความตกอับ” ใกล้กันนิดเดียว
ในช่วงไม่กี่วันมานี้ เราจะเห็นประเด็นสุดดราม่าที่ว่า “อดีตดาวตลกร่างเล็ก” ได้เป็นข่าวในเรื่องของการ “มีปัญหาทางการเงิน” ไม่มีจะกิน ต้องเที่ยวหยิบยืมเงินของผู้อื่นเพื่อมาประทังชีวิต
ตลกอาชีพ: เมื่อ “ความมั่งคั่ง” และ “ความตกอับ” ใกล้กันนิดเดียว
ในช่วงไม่กี่วันมานี้ เราจะเห็นประเด็นสุดดราม่าที่ว่า “อดีตดาวตลกร่างเล็ก” ได้เป็นข่าวในเรื่องของการ “มีปัญหาทางการเงิน” ไม่มีจะกิน ต้องเที่ยวหยิบยืมเงินของผู้อื่นเพื่อมาประทังชีวิต
แน่นอน นอกเหนือจาก “พฤติกรรม” ที่เป็นที่ถกเถียงอย่างมากในโลกโซเชียลของเขาแล้ว สิ่งหนึ่งที่อาจขบคิดได้ นั่นคือ เรามักจะเห็น “แบบแผน” ที่ว่าด้วยการตกระกำลำบากของ “อาชีพในวงการบันเทิง” อยู่บ่อยครั้ง ก่อนหน้านั้น เราก็สะเทือนใจกับ “อาทิตย์ ริว” พระเอกอดีตดาวรุ่งแห่งอาร์เอสไปหมาด ๆ หรือในวงการ “ตลกอาชีพ” ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะส่วนมาก มักจะ “จบไม่สวย” ทั้งนั้น
นั่นจึงเกิดคำถามว่า เหตุใด ในเมื่ออาชีพเหล่านี้ สามารถที่จะทำเงินได้มหาศาล หากจับเคล็ดได้ ซึ่งแน่นอนว่า มากกว่า “มนุษย์เงินเดือน” หลายเท่า กลับกัน ในบั้นปลาย ผลลัพธ์กลับออกมาไม่ต่างจาก “สกู๊ปชีวิต” เรื่องหนึ่ง
บางที การทำความเข้าใจผ่าน “รอยทางของสายอาชีพ” อาจทำให้เกิดการตระหนักบางอย่างขึ้น
เมื่อความบันเทิงสร้างอาชีพ
“อย่าเต้นกินรำกิน” “พวกนักดนตรีไส้แห้ง” หรือ “ฟ้อนรำตำข้าวสารกรอกหม้อ” เป็นความเชื่อของผู้คนยุคสมัยก่อน ที่เราจะได้รับการสั่งสอนจนชาชิน ด้วย “ภาพแทน” ของคนบันเทิงนั้น เป็นสิ่งที่ “ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้”
แม้กระทั่ง “นักหนังสือพิมพ์” หรือ “นักข่าว” ยังได้รับการดูแคลนเช่นเดียวกัน
ชาวไทยจึงมี “ความนิยม” ในการรับราชการ ทหาร ตำรวจ หรือแพทย์ พยาบาล เสียมากกว่า เพราะมีรายได้ที่มั่นคง และยังมี “เกียรติยศ” เป็นที่นับหน้าถือตาของคนในสังคมอย่างมาก
แต่แล้ว อาชีพบันเทิงก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะการมาถึงของ “การแสดงสด (Performing Arts)” สิ่งนี้เป็นความบันเทิงในรูปแบบใหม่ นอกเหนือจากการละเล่นมอญซ่อนผ้า การเที่ยวเตร่งานวัด หรือการทำกิจกรรมเข้าจังหวะยามค่ำ
การแสดงสดนี้ เน้นแสง สี เสียง ตระการตา การแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจ ซึ่งสะท้อนผ่าน “วงดนตรีลูกทุ่ง” ไม่มีมากระมิดกระเมี้ยนแบบยี่เก หรือลำตัด
แน่นอน การแสดงสดนี้ ได้รับความนิยมอย่างมาก และที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นั่นคือ “การแสดงตลก” ที่ส่วนใหญ่มักจะ “โหมโรงหรือคั่นโชว์” ระหว่างที่นักร้องลูกทุ่งชื่อดังยังแต่งตัวอยู่
นั่นจึงทำให้เกิด “ตลกอาชีพ” ขึ้น ซึ่งตลกเหล่านี้ เป็นการเล่นแบบ “ให้ประชาชนรากหญ้าที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศเข้าใจ” จะไม่เหมือนกับ “ตลกปัญญาชน” แบบ “ซูโม่สำอางค์ หรือ ยุทธการขยับเหงือก” ที่เน้นมุกใช้สมอง เล่นวันนี้ 3 เดือนเพิ่งจะมาขำ
และเมื่อปีกกล้าขาแข็งพอ ตลกอาชีพเหล่านี้ ก็สามารถที่จะแยกออกมา “รับงานด้วยตนเอง” ตั้งเป็นคณะตลก โดยยุคบุกเบิกก็มี “เชิญยิ้ม” และ “ชวนชื่น” ก่อนที่จะเกิดคณะตลกไฟแรงนาม “โพธิ์งาม” ขึ้นมาแข่งบารมี
และเมื่อ “ทีวี” ราคาถูกลง และเป็นที่นิยมแก่ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตลกจึงได้ค่อย ๆ เคลื่อนย้ายเข้าสู่ “จอแก้ว” มากยิ่งขึ้น ๆ พวกแรก ๆ นั่นคือ “หม่ำ จ๊กม๊ก” ในรายการ “ชิงร้อยชิงล้าน”
ก่อนจะมีมาเรื่อย ๆ โดยขยายออกไปเป็นทั้ง “ซิทคอม” “ละครคอมเมดี้” หรือ “รายการอำ” ดังเช่นในปัจจุบัน
น้ำกรดแช่เย็น
แน่นอน บรรดาอาชีพตลกนั้น เป็นเรื่องของ “พรสวรรค์” สอนกันได้ แต่ไม่อาจที่จะเป็นธรรมชาติได้ทำกับผู้ที่ “Born to be” จริง ๆ
ดังนั้น ในการที่จะเป็นอาชีพตลกได้ “วุฒิการศึกษา” จึงไม่จำเป็น
กระนั้น ในอาชีพบันเทิง รายได้ขึ้นอยู่กับ “ผู้ชม หรือ Mass” เป็นหลัก ตราบใดที่พลังการบริโภคเช่นนี้ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง อาชีพนี้ก็ยังคงได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงตามไปด้วย
ดังนั้น เราจึงเห็นได้อย่างหนาตาว่า เหตุใด ตลกหลายท่านจึงสามารถที่จะมีบ้าน มีรถ มีทรัพย์สิน มากกว่ามนุษย์เงินเดือนหรือข้าราชการที่จบมหาวิทยาลัย Top 5 ของประเทศได้
ยิ่งหากตลกท่านใดที่ประพฤติตัวอย่างเหมาะสม ย่อมสามารถที่จะ “หากิน” ได้เรื่อย ๆ หรือบางทีก็ถึงขั้นเป็น “ดาวค้างฟ้า” เลยทีเดียว
แต่อย่าลืมว่า อาชีพนี้เป็นเรื่องของ “น้ำกรดแช่เย็น” แน่นอน พฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะสื่อบันเทิงนั้น เป็นอะไรที่ “ฉาบฉวย” อย่างมาก
บางที “มุกตลก” ที่เคยสร้างรอยยิ้มในอดีต ผ่านไปสัก 4-5 ปี ก็อาจเสื่อมความสนุกสนาน และขายไม่ออกขึ้นมาเสียเฉย ๆ อาทิ มุกแซวผู้หญิง สมัยก่อนอาจจะฮา แต่สมัยนี้ อาจมีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทได้
ดังนั้น อาชีพตลก และอื่น ๆ ในวงการบันเทิง จึง “เอาแน่เอานอนไม่ได้” ตลอดเวลา เดือนนี้มีงานจ้างไม่พัก เดือนต่อไปอาจว่างยาว ๆ ก็เป็นได้
ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นความเสี่ยงอันหอมหวาน ที่ได้ลิ้มลองสักครั้ง ก็สามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตคน ๆ หนึ่ง ให้ดีขึ้น แต่หากผิดพลาด ก็อาจจะเปลี่ยนชีวิตคน ๆ หนึ่ง ให้แย่ลงได้เช่นกัน
ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเรา [บ้าง]
โดยส่วนใหญ่แล้ว หากพิจารณาเพียงผิวเผิน ผู้คนมักจะ “กล่าวโทษระบบ” เป็นปรกติวิสัย อย่างในเรื่องตลกอาชีพนี้ อาจกล่าวโทษได้ว่า เป็นเรื่องที่ “ไม่มีสวัสดิการ” โอบอุ้มมากพอ จึงเกิดปัญหาดังกล่าวตามมา
ตรงนี้ เป็นการคิดที่ “เน้นผลได้ ไม่เน้นผลเสีย” แบบสุด ๆ ในเมื่อการเป็นตลกอาชีพนั้น “เปิดช่องทางในการสะสมทุน” ได้มากกว่าอาชีพอื่น ๆ เป็นไหน ๆ ทั้งในเรื่องของการไม่มี Office Hours ไม่มีเรื่องของการสังกัดบริษัท เว้นแต่สังกัดช่อง ซึ่งก็ยังมีช่องทางที่อิสระกว่ามาก สามารถรับงานที่ใดก็ได้ เวลาใดก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ “Flexible” อย่างมาก
เมื่อมีช่องทางในการกอบโกย แต่กลับพังไม่เป็นท่า บางที “การโทษตนเอง” จึงเป็นสิ่งที่สมควรขบคิดในสมองอีกครั้ง
เพราะโลกใบนี้ “มีได้ก็ต้องมีเสีย” เป็นนิจศีล
บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
- หนังสือ Neoliberalism and the Media
- https://www.researchgate.net/publication/336717428_Media_and_Neoliberalism
- https://escholarship.org/content/qt9376m4pb/qt9376m4pb_noSplash_0ce12781efc92d4542c971ea42870953.pdf