วิศวกร AI ระดับสูงกลายเป็น "สมบัติ" ที่มีค่าที่สุดในการแข่งขัน AI l Editor's Pick

วิศวกร AI ระดับสูงกลายเป็น "สมบัติ" ที่มีค่าที่สุดในการแข่งขัน AI l Editor's Pick

"ซื้อกิจการแบบไม่ซื้อกิจการ" (non-acquisition acquisition) เป็นสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ในวงการเทค มันคือกลยุทธ์ของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ที่ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในสมรภูมิรบของ AI เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่กำลังจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานตัวใหม่ สำคัญกับชีวิตทุกคนไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ต

กลยุทธ์ที่ว่า คือ การทุ่มเงินมหาศาลในการซื้อคน ซื้อบุคลากร กวาดต้อนบรรดาหัวกะทิด้าน AI แทนที่จะซื้อบริษัทสตาร์ตอัปเหล่านั้น ซึ่งนิยามการซื้อกิจการแบบนี้ว่า Acqui-hiring เป็นการผสมคำระหว่าง “การซื้อกิจการ” กับ “การจ้างงาน” ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เข้าถึงแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเจอกระบวนการที่ยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องซื้อกิจการทั้งหมดเลย 

สรุปข่าว

กลยุทธ์ของบรรดาบิ๊กเทค ที่ใช้ทำสงครามการแข่งขันด้าน AI ทุ่มเงินมหาศาลซื้อคนระดับหัวกะทิ แทนที่การซื้อบริษัททั้งหมด ได้ทั้งคนที่มีทักษะระดับสูงในเวลาที่รวดเร็ว และยังไม่ต้องยุ่งยากกับการตรวจสอบโดยเฉพาะในเรื่องของการผูกขาด หากซื้อทั้งกิจการมาครอบครอง นี่คือการ "ซื้อกิจการแบบไม่ซื้อกิจการ"

สงครามกวาดซื้อบุคลากรเริ่มแล้ว

ถ้าจะพูดความบ้าคลั่งของสงคราม AI ในปัจจุบัน ก็คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2022 นับตั้งแต่มีการเปิดตัว ChatGPT ซึ่งมีบริษัท OpenAI เป็นผู้พัฒนาอยู่เบื้องหลัง และยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Generative AI ในปัจจุบัน 

แต่ทว่าตำแหน่งผู้นำของ OpenAI กำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากคู่แข่งเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Meta ด้วยการโจมตี บุกเอาบุคลากรระดับสูงของบริษัทไปหลายครั้ง จนทำให้ผู้บริหาร OpenAI รู้สึกว่า “กำลังมีคนบุกรุกเข้าบ้านและขโมยสมบัติไป” 

ผู้บุกรุกคนสำคัญของ "สงครามชิงหัวกะทิ" นี้ คือ Meta เพราะในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของ Meta ยอมรับอย่างจริงใจ ว่าบริษัทของเขามีจุดอ่อนในเรื่องของการแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์ 

เป็นที่มาทำให้เขาทุ่มงบมหาศาล หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ จ้าง Alexandr Wang CEO วัย 28 ปี ของ ScaleAI บริษัทสตาร์ตอัปด้าน AI ที่มีลูกค้าระดับบิ๊กในมือ จนกลายเป็นข่าวสะเทือนวงการเทคทั่วโลก 

ไม่พอแค่นั้น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยังได้ควักเงินซื้อ Ruoming Pang ผู้เชี่ยวชาญ AI ระดับสูงของ Apple และ Nat Friedman อดีต CEO ของ GitHub (ซึ่งเป็นของ Microsoft) รวมถึงพนักงาน OpenAI ระดับสูงหลายคนที่ถูกล่อตาล่อใจด้วยสัญญาหลายปี มูลค่าหลายล้าน ว่ากันว่าสูงถึง 7-9 หลัก (ในสกุลดอลลาร์สหรัฐ) เพราะอย่างที่เป็นข่าว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังรวบรวมความสามารถของคนเหล่านี้มาพัฒนา AI superintelligence ในชื่อ Meta Superintelligence Labs

ไม่เพียงแค่ Meta เท่านั้น แต่ข้อตกลงในการซื้อบุคลากรคล้ายกันนี้ เคยเกิดขึ้นแล้วกับ Microsoft และ Amazon ในปีที่แล้ว 

Microsoft ทุ่มงบจ้างพนักงานระดับสูงจากสตาร์ตอัปด้าน AI อย่าง Inflection รวมถึงผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง Mustafa Suleyman ผู้ที่ทำให้ DeepMind กลายเป็นหนึ่งในบริษัท AI ชั้นนำของโลก ปัจจุบันเขานั่งตำแหน่ง CEO ของ Microsoft AI

เช่นเดียวกับ Amazon ได้จ้าง David Luan ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Adept บริษัทผู้พัฒนาโซลูชั่นด้าน Agentic AI รวมถึงผู้ร่วมก่อตั้งอีก 4 คน ได้แก่ Augustus Odena, Maxwell Nye, Erich Elsen, และ Kelsey Szot

และอีกดิลที่ยังไม่ทันหายร้อน ก็คือ Google ที่ทุ่มเงินซื้อตัว CEO ของ Windsurf บริษัทสตาร์ตอัป ดาวรุ่งพุ่งแรงของวงการ AI Coding และยังเป็นสตาร์ตอัปโตเร็วมากจากกระแสเงินสดที่ลูกค้ามาจ้างงาน ไม่ได้เติบโตจากการระดมทุนเหมือนสตาร์ตอัปรายอื่น 

ก่อนหน้านี้ OpenAI เคยขอยื่นซื้อกิจการของ Windsurf ด้วยมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ล่มไป เพราะ Microsoft ผู้ถือหุ้นใหญ่ OpenAI ไม่เห็นชอบกับเงื่อนไขบางอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของการแชร์เทคโนโลยี 

และวันที่ 11 กรกฎาคม Google ได้ประกาศว่าได้เอาบุคลากรสำคัญจาก Windsurf มาด้วยการเปย์ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อจ้างทีมวิจัยระดับอัจฉริยะของ Windsurf รวมถึง CEO ของบริษัท และได้รับใบอนุญาตแบบไม่เป็นเอกสิทธิ์ในเทคโนโลยี ตามรายงานของ Bloomberg ที่สำคัญ ไม่ได้เป็นการเข้าซื้อกิจการ 

ทำไมจ้าง แต่ไม่ซื้อ หรือนี่คือช่องโหว่ทางกฎหมาย ? 

การซื้อหัวกะทิจากบริษัทเล็กเข้ามาเป็นของตัวเอง อาจจะกลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของบรรดาบิ๊กเทค เพื่อสร้างการเติบโตและหลีกเลี่ยงครหาว่าครอบงำตลาด ตะโกนบอกโลกว่า ตนไม่ได้ทำการผูกขาดแต่อย่างใด 

กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีแรงกดดันจากหน่วยงานอิสระของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีไว้ควบคุมและป้องกันการผูกขาดทางการค้า อย่าง Federal Trade Commission (FTC) ซึ่งความเข้มข้นนี้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคของ Lina Khan อดีตประธาน FTC เธอได้ปราบปรามการปฏิบัติที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านการแข่งขันในอุตสาหกรรม AI ซึ่งทั้ง Meta และ Google อยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดจาก FTC นี่ด้วย 

Meta กำลังรอคำตัดสินในคดีการผูกขาดจากการอ้างของ FTC ที่ว่าพวกเขาครอบงำโซเชียลมีเดีย ส่วน Google โดนเข้าเต็ม ๆ ในคดีการผูกขาดหลายครั้งในปีที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาว่าผูกขาดทั้ง Search Engine การโฆษณาออนไลน์ และกำลังรอผลสุดท้าย ที่อาจบังคับให้ขาย Chrome browser เพื่อให้การผูกขาดตลาดนี้แตกสลาย  

ต้นปีที่แล้ว ภายใต้การนำของ Lina Khan คณะกรรมการยังเปิดการสอบสวน Microsoft, Amazon และ Google เกี่ยวกับการลงทุนในสตาร์ทอัพ OpenAI และ Anthropic

แม้ว่าตอนนี้ตำแหน่งประธาน FTC จะเปลี่ยนหน้าใหม่ เป็น Andrew Ferguson ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แม้จะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวกต่อต้านบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เช่นเดียวกับ Lina Khan แต่ช่องโหว่ของกฎหมายนี้จะถูกตอบสนองเมื่อไหร่ก็ได้ 

ภายใต้ก้อนเมฆสีดำของแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลนี้ ทำให้บรรดาบริษัทเทคยักษ์ใหญ่เลือกวิธีการที่ง่ายกว่า เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ นั่นก็คือการซื้อบุคลากรระดับแถวหน้า แทนการซื้อบริษัทให้ต้องมาตรวจสอบยุ่งยาก 

ยิ่งทำให้ตอนนี้ชัดเจนมากว่า วิศวกร AI ระดับสูง อาจจะกลายเป็นสกุลเงินและสมบัติที่มีค่าที่สุดในการต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่ในสงครามปัญญาประดิษฐ์นี้

ที่มาข้อมูล : Reuters

ที่มารูปภาพ : Reuters

แท็กบทความ

Thailand Web Stat
ข่าวเด่นวันนี้
Icon