
ปฏิบัติการเก็บกู้กับระเบิด หรือทุ่นระเบิดในไทย เป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานที่เรียกว่า “ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ” สังกัดศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (ไม่ใช่การวางระเบิดซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วย EOD) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงภัยรวมกว่า 18 จังหวัดตามแนวชายแดน ทั้งฝั่งลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย
สรุปข่าว
ภาพรวมหน่วยเก็บกู้กับระเบิดในไทย
ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศไทยที่มีภารกิจหลักในการตรวจค้น เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวมีทั้งกำลังพลที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ และเครื่องมือเฉพาะทางซึ่งพร้อมปฏิบัติงานในทุกสภาพภูมิประเทศและสถานการณ์ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานตามหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ
ชุดเจ้าหน้าที่เก็บกู้กับระเบิด
1 หน่วย จะมีทั้งหมด 5 นาย แบ่งออกเป็น
- หัวหน้าชุด
- ผู้ดูแล/สังเกตการณ์
- เจ้าหน้าที่พยาบาล
- ผู้ควบคุมเครื่องจักรกล
- เจ้าหน้าที่ตรวจค้นทุ่นระเบิด
เครื่องมือที่ใช้เก็บกู้กับระเบิด
- เครื่องจักรกวาดล้างทุ่นระเบิด แบบ GCS-200
- เครื่องจักรกวาดล้างทุ่นระเบิด แบบ Mini MineWolf (MW240)
- เครื่องตรวจจับโลหะ
- เกราะป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจค้นทุ่นระเบิด (Demining Apron)
ตัวอย่างเครื่องจักรกวาดล้างทุ่นระเบิดที่ใช้งานในไทย
ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกวาดล้างทุ่นระเบิดจากชาติต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา นอร์เวย์ เพื่อช่วยสนับสนุนการเก็บกู้กับระเบิดตามหลักมนุษยธรรม โดยเครื่องมือที่ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติของไทยใช้งาน มีดังนี้
เครื่องจักรกวาดล้างทุ่นระเบิด แบบ GCS-200
- หุ่นยนต์ตีนตะขาบจากสหรัฐอเมริกา
- เครื่องยนต์ดีเซล 240 แรงม้า
- รองรับการหุ้มเกราะสูงสุด 20 มิลลิเมตร
- ระยะควบคุมทางไกล 3,000 เมตร
- ติดตั้งกล้องสำหรับสังเกตสภาพพื้นที่
- ติดตั้งชุดทำลายและเก็บกู้ ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ด้านหน้าตัวรถ (T-200 Tiller, F-200 Flail, M-200 Manipulator Arm, BGT-200 Bucket Gripper Tool, DB-200 Dozer Blade, PF-200 Pallet Fork เป็นต้น)
เครื่องจักรกวาดล้างทุ่นระเบิด แบบ Mini MineWolf (MW240)
- หุ่นยนต์ตีนตะขาบจากสหรัฐอเมริกา
- เครื่องยนต์ดีเซล 240 แรงม้า
- รองรับการหุ้มเกราะสูงสุด 8 มิลลิเมตร
- ระยะควบคุมทางไกล 1,000 เมตร
- ติดตั้งกล้องสำหรับสังเกตสภาพพื้นที่
- ติดตั้งแขนกล 1 แขน สำหรับหยิบจับ หรือทำงานเก็บกู้อื่น ๆ
- ติดตั้งชุดทำลายและเก็บกู้ ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์ด้านหน้าตัวรถ (T206 Tiller และ F194 Flail)
Mini MineWolf (MW240) ภาพ: Pearson Engineering
ขั้นตอนและการปฏิบัติการเก็บกู้กับระเบิดในไทยโดยย่อ
- การเตรียมการ เช่น ตรวจสอบสภาพเครื่องมือ ชุดป้องกัน เครื่องจักรกลกวาดล้างทุ่นระเบิด ฯลฯ
- การสืบสภาพพื้นที่ ที่จะเข้าไปเก็บกู้ และระวังการวางทุ่นระเบิดทำลายรถถังหรือเครื่องจักรซ่อนอยู่
- การปฏิบัติงานจะแบ่งขั้นตอนการทำงานเป็น 4 ช่วง ดังนี้
- กำหนดขอบเขตพื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้เครื่องจักรและเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บกู้
- ใช้เครื่องจักรกลฯ หาแนววางกับระเบิด
- ใช้เครื่องจักรกลฯ ช่วยกำหนดขอบเขตของกับระเบิด
- ใช้เครื่องจักรกลฯ สุ่มตรวจพื้นที่ร่วมกับสุนัขเพื่อค้นหาและทำลายกับระเบิด
ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมการเก็บกู้กับระเบิดหรือทุ่นระเบิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของกองทัพท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา
ที่มาข้อมูล : THAILAND MINE ACTION CENTER (TMAC)
ที่มารูปภาพ : THAILAND MINE ACTION CENTER (TMAC)