
เหล่านาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา หรือ USMC (United State Marine Corps) จัดซื้อ SMASH 2000L กล้องเล็ง (Optimal sight) ที่มาพร้อมระบบ AI สนับสนุนการยิง จากบริษัทสมาร์ต ชูตเตอร์ (SMARTSHOOTER) ผู้ผลิตอุปกรณ์ช่วยเล็งจากอิสราเอล
สรุปข่าว
กล้องเล็งปืนพลัง AI ของอิสราเอล
SMASH 2000L หรืออีกชื่อว่า SMASH 3000 เป็นกล้องเล็งแบบจุดแดง (Red-dot sight) หรือกล้องเล็งที่สร้างภาพสะท้อนเป็นจุดเล็งกลางเป้า (Reflex sight) ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้
โครงสร้างหลัก
- ระยะเล็ง 1 เท่า จากเป้า (ไม่ซูมเป้ายิง)
- รองรับการเล็งช่วงกลางวัน (Day mode) แบบช่องมองโปร่งแสงทะลุผ่าน (see-through projected marker)
- รองรับการเล็งช่วงกลางคืน (Night mode) แบบช่องมองเพิ่มแสง (Low light video display)
- ระยะเล็งสูงสุด 300 เมตร (Day mode)
- เข้ากันได้กับปืนไรเฟิลจู่โจมแบบ M4, AR15, SR25 (M110)
- รองรับอาวุธที่ใช้รางปืนแบบ MIL-STD-1913 ตามมาตรฐาน NATO
- น้ำหนัก 740 กรัม (รวมน้ำหนักแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน)
- เมื่อใช้ระบบช่วยยิงจะใช้งานได้ต่อเนื่องสูงสุด 72 ชั่วโมง หรือ 3,600 นัด
- รองรับการสลับเป็นกล้องยิงปกติแบบไม่มีระบบ AI ช่วย
ระบบสนับสนุนการเล็งด้วย AI
- ระบบล็อกเป้ายิง
- ระบบติดตามเป้ายิง
- ระบบกำหนดเขตการยิง (Firing zone)
- ระบบค้นหาเป้ายิง ทั้งบุคคลและโดรน (UAS)
- ระยะเล็งเป้าโดรนไกลสุด 200 เมตร
- รองรับการทำ Sync shot
ทั้งนี้ Sync shot เป็นยุทธวิธีการโจมตีที่กำหนดเป้ายิงหลายเป้าหมายพร้อมกันโดยทหารในหน่วย และยิงพร้อมกันเพื่อลดโอกาสโดนตอบโต้ ซึ่งคอมพิวเตอร์ในตัวกล้องเล็งจะสื่อสารและกำหนดเป้ายิงร่วมกันได้
การซื้อกล้องเล็งปืนพลัง AI ของอิสราเอล
สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ (New York Post) รายงานว่า เหล่านาวิกโยธินสหรัฐได้สั่งซื้อกล้องเล็ง SMASH 2000L ด้วยงบประมาณทั้งหมด 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 420 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อติดตั้งกับอาวุธไรเฟิลจู่โจม (Assault rifle) ประจำกายของทหารนาวิกโยธินที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้รายงานจำนวนหรือราคาของกล้องเล็ง SMASH 2000L แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ดีเฟนซ์บล็อก (Defence Blog) เว็บไซต์ข่าวทางการทหารชื่อดัง รายงานว่า นาวิกโยธินสหรัฐฯ กำลังต้องการยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานซึ่งมีโดรนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ ดังนั้น กล้องเล็ง SMASH 2000L ที่มีขีดความสามารถในการต่อกรและช่วยทำลายโดรนจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม ซึ่งผ่านการทดสอบการใช้งานมาแล้วก่อนหน้านี้ด้วย
ที่มาข้อมูล : New York Post, Defence Blog
ที่มารูปภาพ : U.S. Army Europe and Africa