
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความจริงที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับดาวยูเรนัส (Uranus) เมื่อพบว่าดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ดวงนี้กำลังแผ่ความร้อนจากภายในออกมามากกว่าที่ได้รับจากแสงอาทิตย์ และอาจพลิกมุมมองใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับต้นกำเนิดของดาวยูเรนัส และพัฒนาการของดาวเคราะห์ดวงนี้
การค้นพบโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยฮูสตัน
ทีมวิจัยนำโดย ซินเยว่ หยาง (Xinyue Yang) จากมหาวิทยาลัยฮูสตัน วิเคราะห์ข้อมูลดาวยูเรนัสจากหลายทศวรรษ รวมถึงแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบว่าดาวยูเรนัสแผ่ความร้อนภายในออกมาคิดเป็นประมาณ 12.5% ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับจากดวงอาทิตย์
สรุปข่าว
แม้การแผ่ความร้อนดังกล่าวจะยังน้อยกว่าดาวยักษ์อื่น ๆ เช่น พฤหัสบดีหรือเนปจูนซึ่งแผ่ความร้อนเกิน 100% แต่ก็เพียงพอจะตั้งคำถามใหม่เกี่ยวกับกลไกความร้อนของดาวดวงนี้
“การที่ดาวยูเรนัสยังคงสูญเสียความร้อนจากยุคแรกเริ่ม หมายถึงมันอาจเก็บความร้อนจากอดีตไว้นานกว่าที่เราคิด และนั่นคือกุญแจสำคัญในการเข้าใจว่ามันกลายเป็นดาวเคราะห์ที่เอียงและแปลกประหลาดได้อย่างไร” ซินเยว่ หยาง (Xinyue Yang) ระบุในแถลงการณ์
การค้นพบใหม่นี้สร้างแรงกระตุ้นให้กับข้อเสนอภารกิจสำรวจยูเรนัสในอนาคต โดยเฉพาะโครงการ Uranus Orbiter and Probe (UOP) ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Academy of Sciences) ให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของทศวรรษหน้า
ข้อมูลดาวยูเรนัสก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร ?
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ดาวยูเรนัส (Uranus) เป็นดาวเคราะห์ที่ “เย็นเฉียบ” และ “ไม่แผ่ความร้อนภายในออกมาอย่างมีนัยสำคัญ” โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ชั้นบรรยากาศราว −224°C หรือ 49 เคลวิน และแทบไม่แผ่ความร้อนจากภายในออกมา ต่างจากดาวพฤหัสบดีและดาวเนปจูนที่ปล่อยพลังงานออกมามากกว่าที่ได้รับจากดวงอาทิตย์อย่างมีนัยสำคัญ
ตำแหน่งของดาวยูเรนัสอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 2.9 พันล้านกิโลเมตร ทำให้พลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์มีน้อยมาก สำหรับการโคจรดาวยูเรนัส มีลักษณะพิเศษคือแนวแกนหมุนเอียงถึงเกือบ 98 องศา ทำให้มันโคจรคล้าย “นอนตะแคง” ส่งผลให้ขั้วเหนือและใต้ของดาวเผชิญกับฤดูร้อนและฤดูหนาวนานถึง 21 ปีในแต่ละรอบ
โดยนักวิทยาศาสตร์จากภารกิจ Voyager 2 ในปี 1986 ซึ่งเป็นยานอวกาศลำเดียวที่เคยบินผ่านยูเรนัส พบว่าสภาพบรรยากาศของดาวเงียบสงบ ไม่มีความร้อนแผ่ออกมาชัดเจน และไม่มีการเคลื่อนไหวของเมฆหรือพายุที่เด่นชัด จึงเกิดความเข้าใจว่าดาวยูเรนัสมีโครงสร้างภายในที่อาจแตกต่างจากดาวแก๊สยักษ์ดวงอื่นโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนด้านงบประมาณ โดยเฉพาะหลังการปฏิรูปรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้อนาคตของภารกิจดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ลีห์ เฟลตเชอร์ นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันภารกิจนี้ กล่าวเตือนว่า “เรามีเวลาประมาณหนึ่งทศวรรษในการเปลี่ยนจากแผนบนกระดาษไปสู่จรวดที่พร้อมปล่อยจริง ไม่มีเวลาให้เสียอีกแล้ว”
ประโยชน์ของการค้นพบในครั้งนี้
นอกเหนือจากความสำคัญในเชิงดาราศาสตร์แล้ว นักวิจัยยังเชื่อว่าความเข้าใจเกี่ยวกับระบบความร้อนของยูเรนัสอาจช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับโลกของเราเอง โดย หลี่หมิง (Liming Li) ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชี้ว่า “การศึกษาว่ายูเรนัสเก็บและปล่อยความร้อนอย่างไรนั้น ให้บทเรียนกับเราเกี่ยวกับระบบบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลกได้อย่างลึกซึ้ง”
งานวิจัยฉบับเต็มเผยแพร่ในวารสาร Geophysical Research Letters และนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์อวกาศที่อาจนำไปสู่ภารกิจสำรวจอันทะเยอทะยานครั้งใหม่ของมนุษยชาติในอนาคตอันใกล้
ที่มารูปภาพ : NASA