โรงพยาบาลญี่ปุ่น ลดทารกในครรภ์ กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

โรงพยาบาลญี่ปุ่น ลดทารกในครรภ์ กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากะ (The University of Osaka Hospital) ประกาศจะเปิดการผ่าตัดเพื่อลดจำนวนทารกในครรภ์ ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาสุขภาพ อันเกิดมาจากการตั้งครรภ์ลูกแฝด

สรุปข่าว

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากะ (The University of Osaka Hospital) ประกาศจะเปิดการผ่าตัดเพื่อลดจำนวนทารกในครรภ์ ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาสุขภาพ อันเกิดมาจากการตั้งครรภ์ลูกแฝด

การผ่าตัดเพื่อลดจำนวนทารกในครรภ์ (Multifetal Pregnancy Reduction) หรือการลดขนาดการตั้งครรภ์แฝด จะเกิดขึ้นเมื่อการตั้งครรภ์แฝดดังกล่าว เกิดจากการใช้ยากระตุ้นการตกไข่ (Ovulation Induction Medication) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภาวะการมีบุตรยาก 

ญี่ปุ่นมองว่าการผ่าตัดนี้ ไม่ถือเป็นการทำแท้ง ตามกฎหมายสุขภาพมารดา (Maternal Health Law) โดยคณะกรรมการเฉพาะทางของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการ ระบุว่าในปี 2003 ว่า การผ่าตัดเพื่อลดขนาดการตั้งครรภ์แฝด ได้รับอนุญาตเพื่อปกป้องชีวิตของมารดาและทารก และกำหนดว่าการผ่าตัดดังกล่าว ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นรายกรณี

จากการศึกษาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซากะ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ธันวาคม ปี 2024 ที่ติดตามอาการของหญิงตั้งครรภ์จำนวน 10 ราย อายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี ที่ตั้งครรภ์สามหรือมากกว่า หรือแฝดสองที่มารดามีภาวะทางการแพทย์ร้ายแรง 

ทารกในครรภ์ที่ถูกเลือกสำหรับการผ่าตัดลดขนาด จะถูกเลือกโดยพิจารณาถึงผลกระทบต่อทารกในครรภ์คนอื่น ๆ และมารดา 

การผ่าตัดจะเริ่มขึ้นระหว่างสัปดาห์ที่ 11 - 13 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรต่ำ ด้วยดารสอดเข็มเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฉีดยาเข้าหัวใจของทารกที่อยู่ในครรภ์ 

หนึ่งสัปดาห์หลังการผ่าตัด แพทย์จะทำการตรวจสอบสภาพของมารดาและทารกในครรภ์ เพื่อยืนยันการมีชีวิตของทารก ทั้งนี้ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ที่ไม่ได้ถูกเลือกให้ผ่าตัด จะมีผลน้อยมาก โดยมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 89.5% ทำให้ทีมวิจัยสรุปว่าวิธีการนี้ "มีความน่าเชื่อถือสูง"

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่เข้ารับการผ่าตัด มีแนวโน้มสูงที่จะรู้สึกซึมเศร้าก่อนเข้ารับการรักษา และอาการจะดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากนั้น ทีมวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการสนับสนุนทางจิตใจในระยะยาวสำหรับคุณแม่อีกด้วย

สำหรับภาวะมีบุตรยาก ที่ใช้ยากระตุ้นการตกไข่นั้นพบได้บ่อย อย่างไรก็ตาม การมีทารกในครรภ์แฝดหลายคนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การคลอดก่อนกำหนด ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาระสำคัญสำหรับทั้งแม่และทารก

ในประเทศญี่ปุ่น คลินิกสูตินรีเวช Suwa (Suwa Maternity Clinic) ในจังหวัดนากาโน ได้รายงานเกี่ยวกับการผ่าตัดลดขนาดทารกแฝดครั้งแรกในปี 1986 แต่ยังไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน สำหรับขั้นตอนดังกล่าวและการดูแลหลังการผ่าตัดตั้งแต่นั้นมา

ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโอซาก้า จึงได้ดำเนินการศึกษาทางคลินิก หลังจากการอภิปรายของคณะกรรมการจริยธรรมภายใน จากผลการศึกษา คณะแพทย์ได้ตัดสินใจที่จะทำการผ่าตัดเฉพาะในกรณีที่มี “ทารกแฝดสามหรือมากกว่า” หรือในกรณีที่มีทารกแฝดสองในมารดาที่มีภาวะทางการแพทย์ที่ร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ

ข้อมูล japannews.yomiuri.co.jp/

ที่มาข้อมูล : https://japannews.yomiuri.co.jp/science-nature/science/20250714-269520/

ที่มารูปภาพ : pixabay.com

Thailand Web Stat