วันสั้นลง! เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์จับตาใกล้ชิด

วันสั้นลง! เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์จับตาใกล้ชิด

ในวันนี้วันที่ 9 กรกฎาคม วันที่ 22 กรกฎาคม และ วันที่ 5 สิงหาคม 2568 โลกของเราอาจจะหมุนเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นวันที่สั้นลงอย่างผิดปกติ โดยแต่ละวันจะสั้นลงประมาณ 1.3 ถึง 1.51 มิลลิวินาทีจาก 24 ชั่วโมงปกติ โดยปรากฏการณ์นี้เกิดจากความแตกต่างของแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่แม้จะเป็นเพียงเสี้ยววินาทีที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ แต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในการหมุนของดาวเคราะห์

สรุปข่าว

โลกกำลังหมุนเร็วขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ทำให้วันที่ 9 กรกฎาคม 22 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม 2568 จะสั้นลงเล็กน้อยประมาณ 1.3 ถึง 1.51 มิลลิวินาที ซึ่งเป็นผลมาจากตำแหน่งของดวงจันทร์ที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด ทำให้แรงดึงดูดส่งผลต่อการหมุนของโลกคล้ายกับการหมุนลูกข่าง แม้การเปลี่ยนแปลงนี้จะเล็กน้อยจนไม่สามารถรับรู้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของการหมุนของดาวเคราะห์ที่ได้รับอิทธิพลจากทั้งปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังคงจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาความแม่นยำของระบบเวลาโลกในระยะยาว

ทำไมวันถึงสั้นลง?

โดยปกติแล้ว หนึ่งวันบนโลกคือเวลาที่โลกใช้ในการหมุนรอบแกนของตัวเองโดยสมบูรณ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 86,400 วินาที หรือ 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม การหมุนของโลกนั้นซับซ้อนและได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก และความสมดุลของมวลบนดาวเคราะห์

อย่างไรก็ตามในวันที่ 9 กรกฎาคม, 22 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม 2568 ดวงจันทร์จะอยู่ในตำแหน่งที่อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่กระทำต่อแกนของโลกเปลี่ยนไป นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงนี้กับการหมุนลูกข่าง ถ้าคุณจับลูกข่างตรงกลางแล้วหมุน มันจะไม่หมุนเร็วเท่ากับการจับที่ปลายด้านใดด้านหนึ่ง การที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้ขั้วโลกมากขึ้น ส่งผลให้การหมุนของโลกเร็วขึ้น ทำให้วันสั้นลง


เวลาของโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน

ตลอดประวัติศาสตร์ของโลก การหมุนของโลกโดยรวมมีแนวโน้มที่จะช้าลง ทำให้วันต่าง ๆ ยาวนานขึ้น มีงานวิจัยที่พบว่าเมื่อประมาณ 1-2 พันล้านปีก่อน หนึ่งวันบนโลกยาวเพียง 19 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้โลกมากกว่าปัจจุบัน ทำให้แรงดึงดูดแข็งแกร่งขึ้นและโลกหมุนเร็วขึ้น

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์กลับพบความแปรปรวนในการหมุนของโลก และในปี 2020 โลกหมุนเร็วที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1970 และวันที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 ซึ่งสั้นกว่า 24 ชั่วโมงถึง 1.66 มิลลิวินาที


มนุษย์มีส่วนหรือไม่?

แม้ว่าความแปรผันตามธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ แต่การวิจัยล่าสุดชี้ว่า กิจกรรมของมนุษย์ก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการหมุนของโลก เช่นกัน นักวิจัยจาก NASA คำนวณว่าการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งและน้ำบาดาล ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เพิ่มความยาวของวันของเราถึง 1.33 มิลลิวินาทีต่อศตวรรษ ระหว่างปี 2000 ถึง 2018

นอกจากนี้ เหตุการณ์เฉพาะหน้าก็สามารถส่งผลต่อการหมุนของโลกได้ เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นปี 2011 ที่ทำให้วันสั้นลง 1.8 ไมโครวินาที แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลก็มีผลเช่นกัน 

อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ Live Science กับ ริชาร์ด โฮล์ม (Richard Holme) นักธรณีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลกล่าวว่า ในฤดูร้อนทางซีกโลกเหนือ ต้นไม้จะออกใบ ทำให้มวลเคลื่อนที่จากพื้นดินขึ้นไปเหนือพื้นดิน ห่างจากแกนหมุนของโลกมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราการหมุนลดลงและวันยาวขึ้น เหมือนนักสเก็ตน้ำแข็งที่หมุนช้าลงเมื่อเหยียดแขนออกไป

ผลกระทบในชีวิตประจำวันและอนาคต

แม้ว่าความแตกต่างเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราโดยตรง และนาฬิกาของเราจะยังคงนับ 24 ชั่วโมงตามปกติ แต่ในระยะยาว หากความแตกต่างของความยาววันสะสมมากขึ้นจนเกิน 0.9 วินาที หรือ 900 มิลลิวินาที ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับเขตเวลา

โดยองค์กร International Earth Rotation and Reference Systems Service (IERS) จะมีหน้าที่ตรวจสอบการหมุนของโลกอย่างใกล้ชิด และจะมีการเพิ่ม วินาทีอธิกมาส (Leap Second) ให้กับเวลาสากลเชิงพิกัด (UTC) ตามความจำเป็น เพื่อให้เวลาของเราตรงกับตำแหน่งจริงของดาวเคราะห์ต่อไป

ทั้งนี้การศึกษาและทำความเข้าใจการหมุนของโลกเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาความแม่นยำของระบบเวลาทั่วโลก และการบ่งชี้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อดาวเคราะห์ในระดับที่ละเอียดอ่อนที่สุด

Thailand Web Stat
ข่าวเด่นวันนี้
Icon