ค้นพบวิหารโบราณ "Palaspata" เผยอารยธรรม "Tiwanaku" ก่อนยุคอินคา

ค้นพบวิหารโบราณ "Palaspata" เผยอารยธรรม "Tiwanaku" ก่อนยุคอินคา

ศาสตราจารย์โจเซ่ คาปรีเลส (Jose Capriles) และทีมนักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต (Penn State University) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ในสหรัฐอเมริกา ค้นพบวิหารโบราณขนาดมหึมาที่ชาวพื้นเมืองรู้จักกันในชื่อ "ปาลาสปาตา" (Palaspata) วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาในโบลิเวีย (Bolivia) ห่างจากแหล่งโบราณคดี ตีวานากู (Tiwanaku) ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 215 กิโลเมตร และเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ถึงอิทธิพลและความซับซ้อนของอารยธรรม ตีวานากู (Tiwanaku) ซึ่งเป็นอารยธรรมโบราณที่รุ่งเรืองในเทือกเขาแอนดีส (Andes) ก่อนการขึ้นมาของอาณาจักรอินคา (Incas)

สรุปข่าว

ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตตได้ค้นพบวิหารโบราณขนาดใหญ่ชื่อ "ปาลาสปาตา" บนยอดเขาในโบลิเวีย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของอารยธรรม ตีวานากู ที่รุ่งเรืองก่อนยุคอินคา วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อเส้นทางการค้าสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมของตีวานากู ซึ่งมีรากฐานจากศาสนา การเมือง และเกษตรกรรม การค้นพบเศษวัตถุโบราณและรูปแบบสถาปัตยกรรมยังบ่งชี้ถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆ และยืนยันถึงอิทธิพลที่กว้างขวางของอารยธรรมนี้ แม้จะล่มสลายไปก่อนชาวอินคาจะเข้าครอบครองเทือกเขาแอนดีสในศตวรรษที่ 15 ก็ตาม

อารยธรรมตีวานากู (Tiwanaku)

นักวิจัยเชื่อว่าอารยธรรมตีวานากู กำเนิดขึ้นราวปีคริสต์ศักราช 110 เป็นสังคมที่มีความซับซ้อนอย่างสูง โดยมีรากฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาจักรวาลวิทยา (Cosmology) หรือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเอกภพ หรือจักรวาลในภาพรวม เน้นศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้าง ความสัมพันธ์ และวิวัฒนาการของจักรวาล ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมถึงอารยธรรมแห่งนี้ ยังมีรากฐานทางการเมืองที่แข็งแกร่ง และเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมผสมผสานการเลี้ยงสัตว์ แม้สาเหตุของการล่มสลายของอารยธรรมจะยังเป็นที่ถกเถียงกัน แต่นักวิจัยคาดการณ์ว่าอารยธรรมนี้เริ่มเสื่อมถอยลงราวปีคริสต์ศักราช 1000 และกลายเป็นเพียงซากปรักหักพังเมื่อชาวอินคาเข้ายึดครองเทือกเขาแอนดีสในศตวรรษที่ 15

การค้นพบทางยุทธศาสตร์

จากการค้นพบในครั้งนี้ทีมวิจัยเชื่อว่าวิหารปาลาสปาตา เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับชาวตีวานากู เนื่องจากตั้งอยู่บนจุดบรรจบของเส้นทางการค้าหลักสามสาย ซึ่งเชื่อมโยงสังคมเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็น การค้นพบนี้นับเป็นหนึ่งในไม่กี่แหล่งโบราณคดีแบบแท่นระเบียงที่พบนอกพื้นที่แอ่งทะเลสาบ ติติกากา (Lake Titicaca) และเป็นหนึ่งในแหล่งที่อยู่ไกลที่สุดจากศูนย์กลางของอารยธรรม การมีอยู่ของปาลาสปาตาช่วยเชื่อมโยงตีวานากูกับที่ราบสูงอัลติพลาโน (Altiplano) ตอนกลาง และหุบเขาภายในเทือกเขาแอนดีสของโกชาบัมบา (Cochabamba)

สถาปัตยกรรมและหลักฐานทางวัฒนธรรม

ในการค้นคว้าในครั้งนี้ทีมนักวิจัยได้ใช้ประโยชน์จากการศึกษาภาพถ่ายโดรนและเทคนิคโฟโตแกรมเมตรี (photogrammetry) ซึ่งทีมงานสามารถสร้างแบบจำลอง 3 มิติที่มีรายละเอียดของโครงสร้างและภูมิประเทศของวิหาร ปาลาสปาตามีขนาดประมาณ 125 x 145 เมตร ประกอบด้วยพื้นที่ปิดล้อม 15 แห่งเรียงรายรอบลานภายในตรงกลาง ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมทั่วไปของวัฒนธรรมตีวานากูที่พบในวิหารอื่น ๆ โดยเฉพาะบริเวณปลายทางใต้ของทะเลสาบติติกากา

ทั้งนี้ภายในวิหาร นักโบราณคดีพบเศษเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต อาทิ เศษถ้วยเซรามิก "เครู" (Cherub) ชาม ไห และภาชนะเผากำยาน นอกจากเครื่องปั้นดินเผาที่มีสัญลักษณ์ของตีวานากูแล้ว ยังพบเศษเครื่องปั้นดินเผาจากวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น ยัมปารา, ทูปูรายา และโมโจโกยา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในหุบเขาแอนดีส นอกจากนี้ยังพบเศษกระดูกอูฐ หินเทอร์ควอยซ์ (Turquoise) และเปลือกหอย "โอลิวา เปรูเวียนนา"(Oliva peruviana) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงการติดต่อค้าขายกับทะเลทรายอาตากามา (Atacama Desert) และมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ocean)

การค้นพบและศึกษาปาลาสปาตาครั้งนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Antiquity ถือเป็นการเปิดหน้าต่างใหม่ให้เราได้เข้าใจถึงวิธีการจัดการความร่วมมือ และเห็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมของการควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจในอารยธรรมโบราณอย่างตีวานากู ที่ศาสนามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเมืองและเศรษฐกิจของสังคม

Thailand Web Stat
ข่าวเด่นวันนี้
Icon