TNN online เมื่อโลก เผชิญวิกฤต “ขาดแคลน” สภาพ...จะเป็นอย่างไร? แล้วถ้า “กระดาษชำระ” ขาดตลาดล่ะ?

TNN ONLINE

World

เมื่อโลก เผชิญวิกฤต “ขาดแคลน” สภาพ...จะเป็นอย่างไร? แล้วถ้า “กระดาษชำระ” ขาดตลาดล่ะ?

เมื่อโลก เผชิญวิกฤต “ขาดแคลน”  สภาพ...จะเป็นอย่างไร? แล้วถ้า “กระดาษชำระ” ขาดตลาดล่ะ?

ทั่วโลก ทั้งคนและธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง ไล่ไปตั้งแต่กาแฟ จนถึงถ่านหิน

ภาวะสะดุดหัวทิ่มเช่นนี้ ส่วนใหญ่กล่าวโทษว่ามีสาเหตุมาจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 แต่ในความเป็นจริงมีหลายปัจจัย และผลกระทบกำลังรู้สึกได้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน


◾◾◾

🔴 จีน : ถ่านหินและกระดาษ


จีน ประสบชะตากรรมที่เรียกว่า “Perfect Storm : พายุที่สมบูรณ์แบบ” หรือเคราะห์ซ้ำกรรมซัด สถานการณ์ย่ำแย่ที่ประเดประดังเข้ามาพร้อมกัน กำลังส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อและธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ


ดร.มิแชล เมดาน จากสถาบันออกฟอร์ด เพื่อการศึกษาด้านพลังงาน (Oxford Institute for Energy Studies) กล่าวว่า มันกำลังส่งผลกระทบต่อทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่กระดาษ, อาหาร, สิ่งทอ และของเล่น ไปจนถึงชิปไอโฟน เธอบอกว่า สิ่งเหล่านี้อาจขาดตลาดในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้


ปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากวิกฤตไฟฟ้า ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมา กว่า 20 มณฑลประสบปัญหากระแสไฟฟ้าดับกลายเป็นอัมพาตทั่วหน้า และที่สำคัญมากกว่าครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในจีน ผลิตจากถ่านหิน ซึ่งราคาถ่านหินก็ถีบตัวสูงขึ้นทั่วโลก


ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่สามารถโยนให้ผู้บริโภคชาวจีนรับผิดชอบได้ เนื่องจากการควบคุมราคาที่เข้มงวด เพราะฉะนั้น บริษัทพลังงานต่าง ๆ จึงต้องลดกำลังการผลิต


นอกจากนี้ การผลิตถ่านหินก็ได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์การตรวจสอบด้านความปลอดภัยใหม่ที่เหมืองต่าง ๆ, มีการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นมากขึ้น และจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ด้วย


นั่นก็หมายความว่า แม้จะมีความต้องการสินค้าของจีนเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน โรงงานต่าง ๆ ก็ถูกเรียกร้องให้ลดการใช้พลังงานลง หรือสลับปิดงานเป็นบางวัน


◾◾◾

🔴 สหรัฐฯ : ของเล่นและกระดาษชำระ


เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่งเตือนว่า ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส จะมีหลายอย่างที่ประชาชนจะไม่สามารถหาซื้อได้ สต็อกของเล่นจะได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ เช่นกระดาษชำระและน้ำดื่มบรรจุขวด, เสื้อผ้าใหม่และแม้แต่อาหารสัตว์เลี้ยง


ส่วนหนึ่งของปัญหา คือการกระจุกตัวอยู่ที่ท่าเรือสหรัฐฯ โดย 4 ใน 10 ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ที่เข้าสู่สหรัฐฯ ผ่านท่าเรือเพียง 2 แห่งเท่านั้นในนครลอสแอนเจลิส และเมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย


วันหนึ่งในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรือสินค้า 73 ลำถูกบังคับให้ต้องจอดต่อแถวยาวเหยียดนอกท่าเรือลอสแอนเจลิส ซึ่งก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ หากมีเรือสินค้าต้องรอมากกว่า 1 ลำ ท่าเรือทั้ง 2 แห่งขณะนี้ ปฏิบัติหน้าที่กันหามรุ่งหามค่ำ 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วันไม่ได้หยุดเพื่อบรรเทาความกดดันและปัญหาต่าง ๆ


ในบางกรณี ความขาดแคลนยังมีสาเหตุมาจากปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอื่น ๆ ด้วย ยกตัวอย่าง บริษัท Nike ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตสินค้ากีฬาสัญชาติอเมริกัน ใช้ฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตสินค้าของตนหลากหลายชนิด เช่นในเวียดนาม ซึ่งก็ต้องเผชิญกับการปิดโรงงานหลายแห่ง เพราะโควิดระบาด


ศาสตราจารย์ วิลลี ชีห์ แห่ง Harvard Business School กล่าวว่า ไม่เพียงเท่านี้ แม้แต่สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วเรียบร้อย การขนส่งสินค้าเหล่านี้ไปยังผู้ค้าปลีกก็มีความยุ่งยากมากขึ้นเช่นกัน


ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ภาวะชะงักงันที่โรงงาน, ท่าเรือและถนนและเครือข่ายรถไฟที่ใช้งานหนัก “เกินพิกัด” ทำให้เกิด “คอขวด” หรือการกระจุกตัว ระบายสินค้าไม่ทัน


◾◾◾

🔴 อินเดีย : รถยนต์และชิปคอมพิวเตอร์


Maruti Suzuki บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ยอดการผลิตดิ่งลงอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ทั่วโลก เพราะชิปเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องยนตร์และระบบเบรกฉุกเฉินด้วย


การขาดแคลนเกิดจากการหยุดชะงักในการผลิตเพราะการระบาดของไวรัสโควิดในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ความต้องการชิปทั่วโลก ซึ่งใช้เป็นชิ้นส่วนของทั้งโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ด้วย เพิ่มสูงขึ้นก่อนการระบาดของไวรัสด้วยซ้ำ เพราะการใช้เทคโนโลยี 5G อีกทั้งการหันไปทำงานจากที่บ้านเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส ความต้องการก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากประชาชนต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือเว็บแคม ในการทำงาน ซึ่งจำเป็นอย่างมาก


การขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะส่งมายังอินเดีย ประสบปัญหาเลวร้ายมากขึ้นจากวิกฤตพลังงานในอินเดียเอง ขณะที่สำรองถ่านหินก็กำลังลดลงอยู่ในระดับที่อันตราย เศรษฐกิจอินเดียที่เริ่มขยายตัวขึ้น หลังผ่านคลื่นการระบาดของไวรัสระลอก 2 ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น แต่ราคาถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้น และการนำเข้าของอินเดียลดลง


“ผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้าง ภาคการผลิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นซีเมนต์, เหล็ก, การก่อสร้าง ทุกสิ่งอย่างได้รับผลกระทบเพราะขาดแคลนถ่านหิน” โซห์รา ชัตเตอร์จี อดีตประธานบริษัทถ่านหินอินเดียจำกัด (Coal India Limited)


ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประชาชนในอินเดีย จะได้รับความเดือดร้อนด้วย เพราะราคาไฟฟ้าจะพุ่งสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ราคาสินค้าจำเป็น เช่นอาหารและน้ำมัน ก็ต้องแพงขึ้น กระทบกับชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


◾◾◾

🔴 บราซิล : กาแฟและน้ำ


ปัญหาความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในบราซิล ในรอบเกือบ 100 ปี เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตกาแฟที่น่าผิดหวังในปีนี้ บวกกับสภาพอากาศหนาวเย็น จนเกิดน้ำค้างแข็งปกคลุมและวัฏจักรตามธรรมชาติของผลผลิต จึงส่งผลให้การผลิตกาแฟลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


ความท้าทายสำหรับบริษัทผู้ผลิตกาแฟ ถูกซ้ำเติมให้เลวร้ายมากขึ้นจากค่าขนส่งที่แพงขึ้นและการขาดแคลนบรรจุภัณฑ์ โดยค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้นของบริษัทกาแฟ จะถูกส่งต่อไปยังร้านกาแฟทั่วโลก เพราะบราซิลเป็นผู้ผลิตและส่งออกกาแฟรายใหญ่สุดของโลก


นอกจากนี้ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ใช้ในประเทศ มาจากไฟฟ้าพลังน้ำโดยใช้อ่างเก็บน้ำ การขาดแคลนน้ำ กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดหาพลังงานของประเทศ ขณะที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐก็เรียกร้องให้ประชาชนจำกัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจัดสรรปันส่วนไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ รัฐมนตรีพลังงานบราซิล กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐถูกเรียกร้องให้ลดการใช้ไฟฟ้าลงร้อยละ 20 จากการรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์


◾◾◾

🔴 ไนจีเรีย : ก๊าซหุงต้ม


ไนจีเรีย กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนก๊าซปีโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ซึ่งส่วนใหญ่ใช้หุงต้มในครัวเรือน สถานการณ์เลวร้ายนี้เกิดขึ้น แม้ว่าไนจีเรียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาก็ตาม ราคาของ LPG เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 60% ระหว่างเดือนเมษายนและกรกฎาคม ซึ่งแพงเกินกว่าที่ชาวไนจีเรียจำนวนมากจะเอื้อมถึง ผลดังกล่าว ก็ทำให้ครัวเรือนและธุรกิจหันไปใช้ถ่าน หรือฟืนที่สกปรกมากขึ้นสำหรับการปรุงอาหาร


หนึ่งในเหตุผลของราคาก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น คือการขาดแคลนอุปาทานทั่วโลก ไนจีเรียยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) นำเข้าจากต่างประเทศ


สถานการณ์น่าจะย่ำแย่ลงอีกจากการอ่อนค่าของสกุลเงินและการนำภาษี LNG กลับมาใช้ใหม่ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การขาดแคลนอาจสร้างปัญหาใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะประชาชนต้องหันไปพึ่งพาพลังงานทางเลือกที่ถูกกว่า แต่อันตรายมากกว่า


◾◾◾

🔴 เลบานอน : น้ำและยารักษาโรค


มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค, เวชภัณฑ์ และเชื้อเพลิงในเลบานอน ตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา เลบานอน ต้องจมปรักอยู่กับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งฉุดให้ 3 ใน 4 ของประชากรในประเทศ เข้าสู่ความยากจน, ค่าเงินแทบไม่เหลือค่า และจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่หลายครั้งเพื่อต่อต้านรัฐบาล และระบบการเมืองของเลบานอน


เศรษฐกิจของเลบานอน ประสบปัญหาวิกฤตมาก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว แต่ปัญหาการระบาดของไวรัสซ้ำเติมให้หลายสิ่งหลายอย่างเลวร้ายมากขึ้น, การขาดแคลนเชื้อเพลิง นำไปสู่ปัญหาไฟฟ้าดับครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลให้ธุรกิจและครอบครัวต้องพึ่งพาเครื่องปั่นไฟฟ้าดีเซลของเอกชนที่ราคาแพง แต่ก็เฉพาะคนที่มีฐานะดีพอที่สามารถจัดหามาได้เท่านั้น


ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นาจัต รอชดี ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ ประจำเลบานอน กล่าวว่า เธอมีความกังวลอย่างมากว่าผลกระทบจากวิกฤตเชื้อเพลิง จะส่งผลต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการจัดหาน้ำประปาสำหรับประชาชนหลายล้านคนในเลบานอน


โลกกำลังเผชิญ “Perfect Storm” พายุที่สมบูรณ์แบบ อย่างแท้จริง ลองคิดดูว่า สภาพจะเป็นอย่างไร ถ้ากระดาษชำระ หรือก๊าซหุงต้ม ขาดตลาด

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง