TNN online ‘เหตุใดตะวันตกต้องกดดันเยอรมนี’ ส่งรถถังเลพเพิร์ดช่วยยูเครน ชี้ เยอรมนี “ไม่เต็มใจ” มอบอาวุธ

TNN ONLINE

World

‘เหตุใดตะวันตกต้องกดดันเยอรมนี’ ส่งรถถังเลพเพิร์ดช่วยยูเครน ชี้ เยอรมนี “ไม่เต็มใจ” มอบอาวุธ

‘เหตุใดตะวันตกต้องกดดันเยอรมนี’ ส่งรถถังเลพเพิร์ดช่วยยูเครน ชี้ เยอรมนี “ไม่เต็มใจ” มอบอาวุธ

เป็นเวลาหลายเดือนที่ยูเครนได้เรียกร้องขอให้พันธมิตรชาติตะวันตกส่งรถถังประจัญบาน เพื่อยึดคืนดินแดนจากกองกำลังรัสเซียในทางตอนใต้ และตะวันออกของประเทศ หลังสงครามความขัดแย้งดำเนินลากยาวนานมาเกือบ 1 ปีแล้ว

โดยหลายชาติได้ประกาศให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติม พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ยังไร้เงาของรถถัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเครนต้องการมากที่สุดตอนนี้ 


ความยินดีในการส่งมอบอาวุธให้แก่ยูเครนของพันธมิตรชาติตะวันตกนั้นมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เมื่อสภาพสนามรบเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับความสามารถของยูเครน และความไว้วางใจจากพันธมิตร รวมถึงการที่มหาอำนาจชาติตะวันตกได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดของพวกเขา เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจจะเสี่ยงต่อการยกระดับสงครามกับรัสเซีย 


หนึ่งในอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทรงพลังมากสุด และถูกจับตามองจากหลายชาติ นั่นก็คือ “รถถังเลพเพิร์ด” ของเยอรมนี ที่ทางรัฐบาลของโอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนี ได้ประกาศออกมาว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจในการส่งรถถังดังกล่าวไปช่วยยูเครน ท่ามกลางแรงกดดันมากมาย ที่มองว่า เยอรมนี “ไม่เต็มใจ” ที่จะส่งมอบอาวุธไปยูเครน


---อังกฤษประกาศส่งรถถังช่วยยูเครน กดดันชาติอื่น ๆ--- 


สัปดาห์ที่แล้ว สหราชอาณาจักรกลายเป็นประเทศแรกที่ให้คำมั่นสัญญาว่า จะส่งรถถังประจัญบาน ที่ผลิตจากชาติตะวันตกให้แก่ยูเครน สำนักนายกฯ กล่าวว่า สหราชอาณาจักรจะส่งรถถังชาแลนเจอร์ 2 จำนวน 14 คัน ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ 


การประกาศส่งมอบดังกล่าวของสหราชอาณาจักร สามารถกดดันประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพได้ แต่ถึงกระนั้น สหราชอาณาจักรเอง ก็มีรถถังสำรองไม่มากนัก อีกทั้งสหรัฐฯ ยังระงับการส่งรถถัง M1 เอบรามส์ ไปให้ยูเครน โดยให้เหตุผลว่า มีความกังวลต่อความสามารถในการดูแลรักษารถถังของยูเครน 


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ความสนใจถูกพุ่งมาอยู่ที่ รถถังเลพเพิร์ดที่ผลิตโดยเยอรมนี ซึ่งมีประมาณ 2,000 คัน กระจายอยู่ทั่วยุโรป โดยโปแลนด์ และฟินแลนด์ กล่าวว่า พวกเขาต้องการส่งรถถังเลพเพิร์ดบางส่วนของพวกเขาไปยังยูเครน แต่การจะส่งรถถังดังกล่าว ไปยังยูเครนได้นั้น ทั้ง 2 ประเทศจะต้องได้รับการลงนามการถ่ายโอนจากทางรัฐบาลเยอรมนีก่อน ตามข้อตกลงการซื้อขายที่มีขึ้น 


แต่บอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีจะยังต้องชั่งน้ำหนักต่อการตัดสินใจดังกล่าว 


---ทำไมต้องรอเยอรมนีอนุมัติ--- 


แม้โปแลนด์ และฟินแลนด์ มีความกระตือรือร้นต้องการที่จะส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ไปให้ยูเครน แต่เพราะรถถังถูกผลิตในเยอรมนี ประเทศต่างๆ ที่ซื้อรถถังรุ่นดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากเยอรมนี ถ้าหากต้องการส่งรถถังไปยังประเทศที่ 3 โดยการอนุมัตินั้นขึ้นอยู่กับ โอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนีคนปัจจุบัน และจนตอนนี้ ยังไม่มีประเทศใดส่งคำร้องขออย่างเป็นทางการไปยังเยอรมนี 


ด้านมาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกฯ โปแลนด์ กล่าวเมื่อวันพุธ (18 มกราคม) ที่ผ่านมา ว่า โปแลนด์จะส่งรถถังเลพเพิร์ดจำนวน 14 ลำ ไปยังประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออก ไม่ว่าจะได้รับการอนุมัติจากเยอรมนีหรือไม่ก็ตาม 


ยาคุบ เอเบอร์เล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปราก กล่าวว่า การก้าวไปข้างหน้าเพียงฝ่ายเดียวของโปแลนด์ อาจจะเป็นการฝ่าฝืนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของความสัมพันธ์ทางการเมือง และสัญญาระหว่างกันของโปแลนด์ และเยอรมนี 


“โดยสรุปคือ รัฐบาลโปแลนด์อาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากทางกฎหมายในหลาย ๆ ด้าน” เขา กล่าว


ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ และกลาโหมของยูเครน ได้ย้ำข้อเรียกร้องของพวกเขาเมื่อวันพฤหัสบดี (19 มกราคม) ต่อความต้องการรถถังเลพเพิร์ด เพื่อความสงบสุขของพลเมืองยูเครนนับล้านคน นอกจากนี้ พวกเขา ยังสัญญาว่า กองกำลังยูเครนจะใช้ยุทโธปกรณ์ภายในพรมแดนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลของประเทศตนเท่านั้น เพื่อบรรเทาความหวาดกลัวต่อความกังวลในการยกระดับสงคราม 


ขณะที่ ผลสำรวจของ ARD พบว่า ชาวเยอรมันยังมีความเห็นต่างต่อเรื่องนี้ โดย 46% เห็นด้วยให้มีการส่งรถถังช่วยยูเครน ขณะที่ 43% คัดค้าน ความเห็นต่างยังพบในพรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคแกนนำรัฐบาลด้วย ซึ่งสมาชิกพรรค 49% เห็นด้วย และหากเจาะไปที่กลุ่มอายุจะพบว่า คนรุ่นใหม่ไม่เห็นด้วยในการส่งรถถัง มากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมาก


ทั้งนี้ รถถังเลพเพิร์ด 2 เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1979 นับว่าเป็นหนึ่งในรถถังที่ดีที่สุดของโลก และเป็นยุทโธปกรณ์ที่สำคัญสำหรับกองทัพมากกว่าสิบแห่งทั่วยุโรป รวมถึงแคนาดา และตุรกี รถถังดังกล่าว มีขนาดน้ำหนัก 67 ตัน ซึ่งทรงพลังกว่า ยานรบทหารราบ และมีไว้เพื่อต่อสู้กับรถถังอื่น ๆ และบุกทะลวงแนวของศัตรู โดยใช้ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบ ‘Rheinmetall’ 120 ม.ม. L/44 จำนวน 1 กระบอก


---บทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำเยอรมนีลังเลใจ--- 


ความลังเลใจที่มีมาอย่างยาวนาน ในการเดินทางเข้าสู่ความขัดแย้งของเยอรมนีนั้น เกิดจากบรรทัดฐาน และนโยบายที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดที่มีต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และพยายามหลีกเลี่ยงการถูกมองว่า “เป็นกองทัพที่แข็งกร้าว” นานหลายทศวรรษนับตั้งแต่นั้นมา โดยส่วนใหญ่เยอรมนีจะหลีกเลี่ยงการส่งออกอาวุธไปยังพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง 


ทั้งนี้ เยอรมนีมักจะอธิบายในแวดวงความมั่นคง และนโยบายต่างประเทศว่า ตนเองเป็นผู้รักสงบ แต่นักวิเคราะห์บางคน ได้ปฏิเสธคำอธิบายนี้ โดยอ้างถึงการทุ่มทรัพยากรของเยอรมนีตะวันตกในการสร้างกองทัพในช่วงยุคสงครามเย็น และการอนุญาตให้สหรัฐฯนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาประจำการในดินแดนของเยอรมนีได้ เช่นเดียวกับ การแทรกแซงทางทหารของเยอรมนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนาโตในเซอร์เบียเมื่อปี 1990 และอัฟกานิสถานในเวลาต่อมา 


นอกจากนี้ ปี 2014 เยอรมนีได้ส่ง RPG แก่กองกำลังเคิร์ด เพื่อต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลามในอิรัก ที่พุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อยชาวยาซิดี และอุตสาหกรรมทางทหารของเยอรมนี ยังได้ขายอาวุธให้แก่ผู้นำเผด็จการอีกด้วย 


“แนวทางของเยอรมนีต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศ นั้นยึดโยงกับหลักการเกลียดชังสงครามน้อยลง แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในทางการทูต และแนวคิดในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่า” เอเบอร์เล กล่าว


---ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซีย---


สำนักข่าว Washington Post รายงานว่า สงครามในยูเครนได้ผลักให้เยอรมนีตกอยู่ในสถานะที่ “น่าอึดอัดเป็นพิเศษ” เนื่องจากครั้งหนึ่ง เยอรมนีเคยมีความแตกแยกทางการเมือง และภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกลุ่มสหภาพโซเวียต และชาติตะวันตก และเยอรมนียังคงรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัสเซียมากกว่าประเทศอื่น ๆ 


นอกจากนี้ อังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกฯ เยอรมนี ซึ่งเติบโตในเยอรมนีตะวันออก และพูดภาษารัสเซียได้อย่างคล่องแคล่ว ได้เคยเป็นตัวกลางในการทำข้อตกลงการหยุดยิงระหว่างรัสเซีย และยูเครน เมื่อปี 2014 ในภูมิภาคดอนบาส และเธอยังทำให้เยอรมนีต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียเป็นหลัก 


ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยของโชลซ์ ถูกมองว่า ยังคงรักษาท่าทางที่เห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษต่อรัสเซีย แม้หลังจากที่รัสเซียเปิดใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติบางคนในพรรคของเขา ยังกล่าวว่า ความร่วมมือกับรัสเซียจะมีความสำคัญต่อความมั่นคงของยุโรป


---ชาติตะวันตกชี้ เยอรมนี “ไม่เต็มใจ” มอบอาวุธ---


ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่รัสเซียระดมกำลังทหารจำนวนมาก ตามแนวชายแดนของยูเครน เจ้าหน้าที่ยุโรปตะวันออก ได้ตำหนิเยอรมนีที่ให้คำมั่นว่า จะมอบหมวกนิรภัยเพียง 5,000 ใบ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการป้องกันของยูเครน 


อย่างไรก็ตาม สองวันหลังจากรัสเซียเปิดใช้ปฏิบัติการทางทหาร ผู้นำเยอรมนีได้ประกาศ “ไซเทนเวนเดอ” หรือ “จุดเปลี่ยนของยุค” พร้อมประกาศว่า เยอรมนีจะติดอาวุธให้กับยูเครนโดยตรง และอนุญาตให้ประเทศอื่น ๆ ที่มีอาวุธที่ผลิตในเยอรมนีทำเช่นนั้น นอกจากนี้ โชลซ์ ยังให้คำมั่นว่า เยอรมนีจะเริ่มใช้จ่ายอย่างน้อย 2% ของ GDP ในการป้องกัน ตามเป้าหมายของนาโต


“การถ่ายโอนอาวุธของเยอรมนีจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความตั้งใจต่อการขึ้นมามีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในด้านความมั่นคงและการป้องกันของยุโรป” ไอลิน มาเทิล ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกลาโหม สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเยอรมนี กล่าว 


อย่างไรก็ตาม เอเบอร์เล กล่าวว่า ในบรรดาพันธมิตรตะวันตกของยูเครน มองว่า เยอรมนียังคง “ไม่เต็มใจ” ในการจัดหาอาวุธให้แก่ยูเครน และยูเครน พร้อมด้วยพันธมิตรนาโตบางส่วนก็วิจารณ์เยอรมนีที่ไม่ส่งอาวุธให้มากขึ้นและเร็วกว่านี้


ทั้งนี้ นายกฯ โชลซ์ ได้กล่าวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ทางโทรศัพท์ในสัปดาห์นี้ว่า เขาต้องการให้สหรัฐฯ ตกลงที่จะส่งรถถัง M1 เอบรามส์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ไปยังยูเครนด้วย 


“เราไม่เคยทำอะไรเพียงลำพัง แต่ทำร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา” โชลซ์ กล่าวในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันพุธ (18 มกราคม) ที่ผ่านมา


แต่ทางสหรัฐฯ เผยว่า จะไม่มีการส่งรถถังเอบรามส์เร็ว ๆ นี้ และวอชิงตันต้องการให้เบอร์ลินเป็นคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า รถถังเอบรามส์ มีความซับซ้อนและมีราคาแพง เครื่องยนต์ไอพ่นทำให้เติมเชื้อเพลิงได้ยากกว่า รถถังเลพเพิร์ด ซึ่งใช้น้ำมันดีเซล แต่สหรัฐฯ ได้ประกาศส่งความช่วยเหลือด้านการทหารให้ยูเครนเพิ่มอีกกว่า 9 หมื่นล้านบาท พร้อมอาวุธยุทโธปรกรณ์มากมาย เพียงแต่ไม่มีรถถังที่ยูเครนต้องการ


สเตฟเฟน เฮเบสทริท โฆษกรัฐบาลเยอรมนีชี้แจงเมื่อวันศุกร์ (20 มกราคม) ว่า การจัดหารถถังเอบรามส์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เงื่อนไขเบื้องต้นในการปลดล็อกเลพเพิร์ดสำหรับยูเครน แต่จำเป็นต้องมีการหารือกันมากขึ้นในหมู่พันธมิตรก่อนที่เยอรมนีจะอนุมัติ 

—————

แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

Washington PostBBC

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง