TNN online พาณิชย์เดินแผนสู้ทุกมิติ หวังไทยทวงแชมป์ส่งออกข้าว

TNN ONLINE

TNN Exclusive

พาณิชย์เดินแผนสู้ทุกมิติ หวังไทยทวงแชมป์ส่งออกข้าว

พาณิชย์เดินแผนสู้ทุกมิติ หวังไทยทวงแชมป์ส่งออกข้าว

พาณิชย์เดินหน้ายุทธ์ศาสตร์ข้าวไทย-ขยายตลาดออนไลน์ หวังทวงแชมป์ส่งออกข้าวคืน หลังเวียดนามเบียดไทยขึ้นแท่นอันดับ 2 ส่งออกข้าวมากสุดในโลกรองจากอินเดีย ด้านคู่แข่งดั๊มราคาหวังชิงมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเพิ่ม

การแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หลายประเทศต่างดั๊มราคาในตลาดแบบไม่มีใครยอมใคร เช่น อินเดีย และเวียดนาม ทำให้ไทยที่เคยครองอันดับ 1 ในการส่งออกข้าว ต้องตกชั้นเสียแชมป์อย่างน่าใจหายยิ่งในปี 63 ที่ผ่านมา ที่ต้องเผชิญวิบากกรรมสารพัดปัญหาทั้งโควิด ค่าเงินบาทที่แข็งค่า


ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ต้นทุนการเพาะปลูกสูงจากปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำสวนทางคู่แข่ง ล้วนแต่เป็นตัวฉุดรั้งให้การส่งออกข้าวไทย ที่เคยอยู่ในอันดับ 2 ของโลกในปี 62 ร่วงหล่นลงมาอยู่อันดับ 3 ในปีที่แล้ว ด้วยปริมาณการส่งออกที่ลดเหลือเพียง 5.72 ล้านตัน ลดลง 24.54% จากปี 62 ขณะที่มูลค่าการส่งออก ลดลง 11.41% ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ มาที่ 3,727 ล้านเหรียญสหรัฐ และลดลง 11.23% ในรูปเงินบาท มาอยู่ที่ 1.16 แสนล้านบาท


หากสาดส่องสายตาไปที่คู่แข่งสำคัญ พบว่า อินเดียเป็นคู่แข่งในตลาดข้าวหอมไทย ข้าวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง ขณะที่ฝั่งเวียดนามเป็นคู่แข่งตลาดข้าวไทยทุกชนิด ยกเว้นข้าวเหนียว รวมทั้งได้หันมาขยายตลาดส่งออกข้าวคุณภาพสูง และสร้างตรายี่ห้อข้าวของเวียดนามให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ


ส่วนข้าวพรีเมียมทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย มีคู่แข่งทั้งเวียดนาม สหรัฐ กัมพูชา อินเดียและเมียนม  ปัจจุบันข้าวพื้นนุ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น แต่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขันน้อยกว่าข้าวประเภทอื่น โดยไทยยังไม่มีมาตรฐานสินค้าข้าวพื้นนุ่ม และยังมีข้อจำกัดในการพัฒนาสายพันธุ์ ในขณะที่เวียดนามมีการพัฒนาหลายสายพันธุ์ เช่น นางฮวา OM5451 รวมถึงกัมพูชาที่เป็นผู้ผลิตข้าวพื้นนุ่มที่สำคัญอีกราย ส่วนจีนก็เข้าไปพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มหลายสายพันธุ์ในกัมพูชา


นอกจากคู่แข่งจะแข็งแกร่งขึ้นแล้ว ในช่วงที่ทั่วโลกเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ทำให้แต่ละประเทศปรับแผนการซื้อข้าวจากเดิมที่เน้นข้าวคุณภาพราคาสูง ก็หันมาซื้อข้าวในราคาที่ถูกลง และที่สำคัญจีนจากที่เคยพี่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศก็ลดสัดส่วนลง และหันไปให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวในประเทศ ด้วยการพัฒนาพื้นที่การเกษตรมาตรฐานสูง และพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนทานต่อโรคและแมลงต่างๆ


ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าในระยะข้างหน้าจีนอาจเป็นคู่แข่งสำคัญอีกประเทศ หากจีนหันมาส่งออกข้าวเหมือนกับสินค้าอื่นๆ ที่จีนเคยตีตลาดมาแล้วและประสบความสำเร็จ ถือเป็นสัญญาณอันตรายหากไทยไม่เร่งปรับตัวรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


แต่ก็ใช่ว่าทางการไทยจะยอมจำนนเป็นฝ่ายถูกรุกไล่อยู่ข้างเดียว เพราะที่ผ่านมา ภาครัฐก็พยายามหากลยุทธ์ในการผลักดันให้ไทยกลับมาครองความเป็นผู้นำในการส่งออกข้าวให้ได้อีกครั้ง โดยกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ข้าว ที่เน้นการผลิตข้าวเพื่อสนองความต้องการของตลาด 7 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวพื้นนุ่ม  ข้าวพื้นแข็ง 


ข้าวนึ่ง  ข้าวเหนียว และข้าวคุณภาพพิเศษที่มีตลาดเฉพาะ โดยแยกทำตลาดชัดเจน คือตลาดพรีเมี่ยม สำหรับส่งออกข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมไทย, ตลาดทั่วไป สำหรับข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นแข็ง และตลาดเฉพาะ สำหรับข้าวเหนียว และข้าวคุณภาพพิเศษ   รวมถึงจะมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาด หวังให้ไทยกลับมายืนหนึ่งในการเป็นผู้ส่งออกข้าวของโลก


เมื่อกำหนดแผนการตลาดที่ชัดเจนแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็มีแผนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น โดยลดต้นทุนการเพาะปลูกให้เหลือเฉลี่ยไม่เกินไร่ละ 3,000 บาท หรือไม่เกินตันละ 6,000 บาท ภายในปี  67 และเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ อายุสั้นไม่เกิน 100 วัน ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 1 ตัน


พันธุ์ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ อายุสั้นไม่เกิน 100 วัน ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 1.5 ตัน พันธุ์ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 0.8 ตัน และพันธุ์ข้าวที่มีโภชนาการสูง 2 พันธุ์ ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 0.8 ตัน  


สำหรับเป้าหมายการส่งออกข้าวในปีนี้นั้น กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 6 ล้านตัน โดย "นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ"  ออกมาระบุว่าการที่จะทำให้ตัวเลขส่งออกข้าวไทยไปถึงฝั่งได้ จะต้องร่วมกับทูตพาณิชย์ในต่างประเทศจัดกิจกรรมโปรโมทข้าวไทยในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและหากลุ่มลูกค้าใหม่


ร้อมเร่งเครื่องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พัฒนา พันธุ์ข้าวให้ตรงตามที่ตลาดต้องการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนจะเร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการส่งออกข้าว และเร่งประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้เป็นที่รู้จักและต้องการเพิ่มมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความพยายามในการพัฒนาการผลิตและการตลาดให้แข่งขันได้แล้ว แต่ดูเหมือนว่าในด้านราคา จะยังเป็นปัญหาอยู่ สะท้อนจากความเห็นของผู้ส่งออกข้าวที่ประสานเสียงยอมรับว่า  ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก ทำให้ผู้บริโภคหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน เช่น ข้าวขาว 5% ไทยขายตันละ 480-490 เหรียญ ขณะที่เวียดนามขาย 440 เหรียญ และอินเดียขายเพียง 360 เหรียญ ประกอบกับพันธุ์ข้าวของไทยบางชนิดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงเป็นจุดอ่อนที่ถูกคู่แข่งโจมตีช่วงชิงตลาดไปต่อหน้าต่อตา


นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้รายได้จากการส่งออกหดหาย โดยผู้ส่งออกข้าวเรียกร้องให้ภาครัฐดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่ามากเกินไป  พร้อมทั้งเร่งแก้ปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย


ด้วยผู้เล่นทั้งรายเก่ารายใหม่ ที่พร้อมจะใช้ทุกยุทธวิธีในการชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก ทำให้การที่ไทยจะทวงแชมป์กลับคืนได้นั้น  รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจข้าวของไทยต้องปรับกลยุทธ์ วางแผนรับมือ กับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก ตลอดจนการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มปริมาณการผลิตต่อไร่สูงขึ้น เพื่อเร่งสปีดของไทยให้พร้อมรับการกับแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น


โดยเฉพาะหลังจากโควคิดคลี่คลายแล้ว เชื่อว่าทุกประเทศก็ต้องหาลู่ทางในการปั๊มรายได้ส่งออกกันยกใหญ่ หากไทยยังย่ำอยู่กับที่ อาจต้องเพลี่ยงพล้ำพลาดท่าให้คู่แข่งแบบไม่มีวันฟื้นกลับก็เป็นได้



พาณิชย์เดินแผนสู้ทุกมิติ หวังไทยทวงแชมป์ส่งออกข้าว

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง