TNN online เหตุใด COVID-19 สายพันธุ์ "เดลต้า" ถึงระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

TNN ONLINE

Tech

เหตุใด COVID-19 สายพันธุ์ "เดลต้า" ถึงระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

เหตุใด COVID-19 สายพันธุ์ เดลต้า ถึงระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์พบคำตอบ ถึงสาเหตุที่ว่าทำไมเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า จึงแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลต้าก่อให้เกิดการระบาดของโรค COVID-19 ที่แพร่กระจายและรุนแรงกว่าเดิม จนสายพันธุ์นี้แทบจะกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามค้นหาว่า เหตุใดไวรัสสายพันธุ์นี้จึงแพร่กระจายได้เร็วอย่างน่าตกใจเช่นนี้



การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าถูกบันทึกครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2563 ในประเทศอินเดีย จากนั้นไม่นานอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แซงสายพันธุ์ก่อนหน้าอย่างแอลฟาและเบต้า จนกลายเป็นเชื้อก่อโรค COVID-19 ตัวฉกาจในหลายประเทศทั่วโลก


การศึกษาล่าสุดจากความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เริ่มต้นจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่าภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อจนหายดีแล้ว มีความไวต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้าลดลง 6 เท่า และภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็มีความไวต่อเชื้อลดลงถึง 8 เท่าด้วย โดยเทียบกับความไวต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม



ถัดมาเป็นการทดลองในเซลล์ที่เลียนแบบทางเดินหายใจของมนุษย์ เพื่อค้นหาว่าเหตุใดเชื้อจึงแพร่กระจายและเข้าสู่เซลล์ได้เร็วกกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งพบว่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามีจำนวนส่วนที่ใช้ในการบุกรุกเข้าสู่เซลล์ (เรียกว่า Cleaved spikes) เพิ่มขึ้น ทำให้มันยึดติดกับเซลล์อย่างแน่นหนาและเข้าสู่เซลล์ได้เร็วกว่า


หลังจากที่ไวรัสเข้าสู่เซลล์เรียบร้อยแล้ว พวกมันยังสามารถเร่งให้เซลล์เพิ่มจำนวนไวรัสรุ่นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกมันจึงแพร่กระจายได้เร็ว และติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า 

เหตุใด COVID-19 สายพันธุ์ เดลต้า ถึงระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ที่มาของภาพ https://www.bbc.com/news/health-57489740

 


Ravi Gupta หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาครั้งนี้จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาข้างต้นช่วยอธิบายถึงสาเหตุการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่สนับสนุนว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์แอลฟา, เบต้า หรือการฉีดวัคซีน มีผลลดลงต่อสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันแบบหมู่ต่อสายพันธุ์เดลต้าได้


แม้ผลสำรวจเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลกว่า 100 แห่งที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 พบว่าเจ้าหน้าที่ยังสามารถติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้ เพียงวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้บ้าง หากแต่ความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อยังรวดเร็วดังเดิม ทำให้การแพร่ระบาดยังไม่ลดลงและเกิดการติดเชื้อซ้ำได้อีกด้วย ทางออกที่ดีที่สุดคือการผลิต Booster dose หรือวัคซีนกระตุ้นสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าโดยเฉพาะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง