TNN online ชุดตรวจ COVID-19 แบบต่าง ๆ พร้อมจุดเด่น-จุดด้อยที่คุณควรรู้

TNN ONLINE

Tech

ชุดตรวจ COVID-19 แบบต่าง ๆ พร้อมจุดเด่น-จุดด้อยที่คุณควรรู้

ชุดตรวจ COVID-19 แบบต่าง ๆ พร้อมจุดเด่น-จุดด้อยที่คุณควรรู้

ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหา COVID-19 มากมาย แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร ไปดูกันเลย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บทความนี้จึงอยากนำเสนอให้คุณผู้อ่านได้รู้จักการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร แบบใดเหมาะสมที่จะใช้ในการวินิจฉัย ไปดูพร้อม ๆ กันเลย

ชุดตรวจ COVID-19 แบบต่าง ๆ พร้อมจุดเด่น-จุดด้อยที่คุณควรรู้ ที่มาของภาพ https://www.healthline.com/health/how-long-does-it-take-to-get-covid-results

 


ก่อนอื่นอยากให้ผู้อ่านทุกท่านทำความเข้าใจก่อนว่า การตรวจหาเชื้อ COVID-19 นั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐฯ (CDC) ให้คำแนะนำว่าบุคคลดังต่อไปนี้ควรได้รับการตรวจหาเชื้อ


- ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายโรค COVID-19 

- มีประวัติสัมผัสหรือเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตร นาน 15 นาที

- มีประวัติอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่น เดินทางหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดในสถานที่ปิด

- บุคคลที่จำเป็นต้องคัดกรองตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ


บุคคลข้างต้นจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องมีการตรวจหาเชื้อ ในขณะที่หากคุณไม่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่สงสัยว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ อาจเริ่มต้นด้วยการกักตัวหากเริ่มมีอาการน่าสงสัยสามารถติดต่อไปยังเข้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจหาเชื้อได้



ชุดตรวจ COVID-19 มีกี่ประเภท?


ชุดตรวจที่มีอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่


1. Molecular - ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธีการ Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction (RT-PCR)

2. Serological - ตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสในร่างกาย

3. Antigen - ตรวจหาโปรตีนของไวรัสในร่างกาย


Serological - ตรวจหาแอนติบอดีต่อไวรัสในร่างกาย


ชุดตรวจประเภทนี้จะเป็นการตรวจหาสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี (Antibody) ชนิด IgM และ IgG ต่อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นตัวการก่อโรค COVID-19 จากเลือดของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตามการตรวจด้วยวิธีนี้ "ไม่สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคได้" เนื่องจากมีรายงานผลตรวจที่ให้ผลบวกลวง (False positive) หรือผลลบลวง (False negative) สูง นอกจากนี้การที่ตรวจเจอแอนติบอดีในร่างกาย บ่งบอกได้แค่ว่าอาจจะติดเชื้ออยู่ในขณะนี้หรือเคยติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ (ปัจจุบันไม่มีเชื้อแล้ว) และไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันที่อยู่ได้ตลอดไปอีกด้วย


มีรายงานว่าชุดตรวจหาแอนติบอดีบางชิ้นไม่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 มากนัก อาจผลให้บวกกับเชื้อโคโรนาไวรัสก่อนโรคอื่น ๆ ก็เป็นได้ ดังนั้นชุดตรวจชนิดนี้ไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคได้


Antigen - ตรวจหาโปรตีนของไวรัสในร่างกาย


ชุดตรวจชนิดนี้จะเป็นการตรวจหาโปรตีนที่จำเพาะต่อไวรัส SARS-CoV-2 โดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกหรือช่องปาก ซึ่งชุดตรวจชนิดนี้มีราคาไม่แพง แต่ความไวต่อการตรวจพบเชื้อจะช้าน้อยกว่าการตรวจด้วย RT-PCR และมีโอกาสให้ผลลบลวงด้วย


จากอัลกอริธึมการตรวจหาเชื้อด้วยแอนติเจนตามคำแนะนำของ CDC แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่แสดงอาการ และกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ


1. กลุ่มที่แสดงอาการ หากตรวจแอนติเจนพบเชื้อให้ผลบวก แสดงว่าคุณติดเชื้อจริงให้เข้าสู่กระบวนการกักตัวในห้องแยกเดี่ยวทันที แต่ถ้าได้ผลลบจะต้องยืนยันด้วย RT-PCR ก่อน

2. กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ หากตรวจพบเชื้อได้ผลบวกให้ยืนยันด้วย RT-PCR ซ้ำอีกที ในขณะที่ถ้าได้ผลลบแล้วไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย ก็มีโอกาสที่คุณจะติดเชื้อได้น้อยมากสามารถติดตามอาการเองที่บ้านได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีประวัติสัมผัส แม้ได้ผลลบยังต้องติดตามผลตรวจเรื่อย ๆ ร่วมกับการกักตัวที่บ้านอย่างน้อย 14 วัน

แสดงให้เห็นว่าชุดตรวจแอนติเจนสามารถใช้วินิจฉัยโรคได้ในบางกรณี แต่ยังไม่นับว่าเป็น Gold Standard ที่ใช้ในการวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน


Molecular - ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธีการ Reverse Transcriptase-Polymerase Chain Reaction (RT-PCR)


ปัจจุบันวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานและนิยมใช้ในการวินิจฉัยโรค คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในร่างกาย โดยการเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งในโพรงจมูกหรือช่องปาก จากนั้นจึงนำสารตัวอย่างไปผ่านกระบวนการเพื่อคัดแยกสารพันธุกรรมไวรัส 


แม้จะมีสารพันธุกรรมอยู่น้อยนิด การตรวจด้วย RT-PCR มีโอกาสที่จะตรวจจับเชื้อได้สูงกว่า 2 วิธีข้างต้น การให้ผลบวกจึงค่อนข้างชี้ชัดได้ว่าบุคคลนั้นติดโรค COVID-19 และโอกาสเกิดผลลบลวงยังน้อยกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีที่ได้ผลลบ แต่ประวัติและการตรวจร่างกายอื่น ๆ ของบุคคลนั้น จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจริง ๆ สามารถกักตัวผู้ป่วยไว้ก่อน แล้วตรวจซ้ำในภายหลังได้ เพราะในช่วงแรกของการติดเชื้อมีโอกาสที่จะตรวจไม่พบเชื้อได้เช่นกัน


อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจแบบ RT-PCR นั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องตรวจที่จำเพาะ จึงสามารถทำได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการตรวจทั้ง 2 ประเภทของต้น


ในช่วงของการระบาดนี้ อยากให้ผู้อ่านทุกคนรักษาสุขอนามัยให้ดี หลีกเลี่ยงการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยให้แน่นหนาและล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันโรคได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก AAFPCDC


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง