TNN online นักวิจัยพัฒนาผิวหนังพิมพ์ 3 มิติ ทดลองรักษาแผลหมูสำเร็จ เล็งใช้รักษามนุษย์ในอนาคต

TNN ONLINE

Tech

นักวิจัยพัฒนาผิวหนังพิมพ์ 3 มิติ ทดลองรักษาแผลหมูสำเร็จ เล็งใช้รักษามนุษย์ในอนาคต

นักวิจัยพัฒนาผิวหนังพิมพ์ 3 มิติ ทดลองรักษาแผลหมูสำเร็จ เล็งใช้รักษามนุษย์ในอนาคต

นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างผิวหนังที่พิมพ์ด้วยชีวภาพ 3 มิติ คุณสมบัติเหมือนผิวหนังจริงของมนุษย์ สามารถใช้รักษาบาดแผลไฟไหม้ หรืออาการบาดเจ็บประเภทอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้ทดลองในผิวหนังหมูสำเร็จ ในอนาคตอาจนำมาใช้ในมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเวชศาสตร์ฟื้นฟูเวคฟอเรสต์ (Wake Forest Institute for Regenerative Medicine) สหรัฐฯ สร้างผิวหนังที่พิมพ์ด้วยชีวภาพ 3 มิติ คุณสมบัติเหมือนผิวหนังจริงของมนุษย์ สามารถใช้รักษาบาดแผลไฟไหม้ หรืออาการบาดเจ็บประเภทอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ผิวหนังที่พิมพ์ด้วยชีวภาพนี้สร้างขึ้นจากเซลล์ร่างกาย 6 ประเภท ได้แก่ เมลาโนไซต์, ไฟโบรบลาสต์ของผิวหนัง, เซลล์ตุ่มผิวหนังฟอลลิเคิล, เซลล์เคราติโนไซต์ของผิวหนังชั้นนอก, เซลล์บุผนังหลอดเลือดขนาดเล็กในผิวหนัง (DMEC) และเซลล์ไขมัน เซลล์เหล่านี้จะได้รับการเพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง ผสมกับส่วนผสมที่จำเป็น เช่น ไบโออิงค์ไฮโดรเจล หรือหมึกชีวภาพ ซึ่งภายในหมึกก็มีไฟบริโนเจน หรือโปรตีนในพลาสมาในเลือดที่มีบทบาทสำคัญในการแข็งตัวของเลือด


จากนั้นก็จะนำส่วนผสมที่ได้ ไปใส่ในเครื่องพิมพ์เนื้อเยื่อ และสามารถพิมพ์ผิวหนังออกมาได้เหมือนผิวหนังตามธรรมชาติ ประกอบด้วย 3 ชั้น คือ ไฮโปเดอร์มิส ชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้


นักวิจัยพัฒนาผิวหนังพิมพ์ 3 มิติ ทดลองรักษาแผลหมูสำเร็จ เล็งใช้รักษามนุษย์ในอนาคต

ภาพจาก Wake Forest


ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองปลูกถ่ายบนผิวหนังหมูแล้วด้วยการพิมพ์ทางชีวภาพ ซึ่งผิวหนังหมูดังกล่าว มีบาดแผลขนาดกว้างยาว 5 เซนติเมตร และทดลองทั้งหมด 8 จุดตามร่างกายเพื่อให้เห็นความแตกต่างของการรักษา ผลลัพธ์ที่ออกมา แผลเหล่านั้นสมานได้ดีขึ้น เกิดเป็นผิวหนังใหม่ขึ้นมาได้ 


นักวิจัยชี้ว่านี่คือความก้าวหน้าด้านวิศวกรรมชีวภาพ มันจะทำให้เกิดการฟื้นฟูและผลิตผิวหนังใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนผิวหนังธรรมชาติของเรา ในอนาคตมันอาจนำมาใช้สำหรับงานทางการแพทย์ของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมาณจากบาดแผลฉกรรจ์หรือบาดแผลไฟไหม้ 


ซึ่งปัจจุบันนี้หากมีการรักษาแผลฉีกขาดหรือไฟไหม้ แพทย์จะใช้ผิวหนังในส่วนที่แข็งแรง แล้วนำไปรักษาส่วนที่บาดเจ็บ แม้ว่าจะได้ผลดี แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้ปริมาณผิวหนังที่เพียงพอ หากเป็นบาดแผลไฟไหม้ ซึ่งกินบริเวณกว้าง ก็ต้องใช้ผิวหนังกว้างมากตามไปด้วย ผิวหนัง 3 มิติก็อาจจะมาเป็นตัวเลือกที่สำคัญ


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเพียงการทดลอง ซึ่งหากสำเร็จแล้ว เชื่อว่านวัตกรรมนี้จะก้าวเข้ามามีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจมีผิวหนังพิมพ์ 3 มิติแบบนี้แปะอยู่สักจุดในร่างกายก็ได้ ใครจะไปรู้



ที่มาข้อมูล InterestingEngineeringNewatlas, Science

ที่มารูปภาพ Wake Forest

ข่าวแนะนำ