TNN online 3 เรื่องไม่จริง “ซีเซียม-137” จากปราจีนบุรีที่คุณควรรู้

TNN ONLINE

Tech

3 เรื่องไม่จริง “ซีเซียม-137” จากปราจีนบุรีที่คุณควรรู้

3 เรื่องไม่จริง “ซีเซียม-137” จากปราจีนบุรีที่คุณควรรู้

TNN Tech รวบรวม 3 หัวข้อ ที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับสารซีเซียม-137 ซึ่งหลุดรั่วออกมาจากโรงงานที่จังหวัดปราจีนบุรีเมื่อเร็ว ๆ นี้ พร้อมข้อเท็จจริงที่ควรทราบ


ซีเซียม-137 (Cesium-137) เป็นธาตุกัมมันตรังสีกลายเป็นชื่อที่หลายคนต้องได้ยินจากการตกเป็นข่าวดังในกรณีที่มีการรั่วไหลของธาตุดังกล่าวจากโรงงานผลิตไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรีตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามท่ามกลางเรื่องราวเกี่ยวกับซีเซียม-137 นั้นยังมี 3 เรื่องที่ไม่จริงเกี่ยวกับซีเซียม-137 ที่ควรรู้เพื่อจะได้ไม่ตื่นตระหนกว่าจนเกินเหตุ


1. ซีเซียม-137 แพร่กระจายได้ถึง 1,000 ตารางกิโลเมตร


มีข่าวลือแพร่หลายบนโลกโซเชียลว่าซีเซียม-137 มีระยะแพร่กระจายที่อันตรายถึง 1,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ เพราะข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษวัดค่าระดับรังสีจากซีเซียม 137 รอบบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุได้ประมาณ 0.09 - 0.11 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (μSv/h)


แต่มนุษย์จะได้รับรังสีจากธรรมชาติในสภาพแวดล้อมทั่วไปที่ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหนก็จะได้รับเช่นกัน โดยเรียกปริมาณรังสีดังกล่าวว่า ปริมาณรับรังสีพื้นหลัง (Background Radiation Dose) มีค่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.23 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (μSv/h) ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ตรวจเจอจากรอบโรงงานในจังหวัดปราจีนบุรี ดังนั้น รัศมีการแพร่กระจายที่เป็นอันตรายจึงเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีระยะครอบคลุมถึงหลักพันตารางกิโลเมตร หรีอต่อให้มีการแพร่กระจายจริงก็ยังน้อยกว่าปริมาณรับรังสีพื้นหลังอยู่ดี เนื่องจากยิ่งรังสีแพร่กระจายออกไป ปริมาณความเข้มข้นก็จะน้อยลงตามไปด้วย


2. ซีเซียม-137 ที่ปราจีนบุรีเทียบกับเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลได้


มีการแพร่ข้อมูลอีกเช่นกันว่าปริมาณซีเซียม-137 ที่หลุดรั่วออกมานั้นอันตรายเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl Nucler Power Plant) ระเบิดในปี 1986 ที่สหภาพโซเวียต (ตรงกับพื้นที่ในประเทศยูเครนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอีกความเข้าใจผิด เพราะว่าที่เชอร์โนบิลนั้นมีซีเซียม-137 รั่วไหลในปริมาณ 27 กิโลกรัม แต่ท่อเหล็กจากจังหวัดปราจีนบุรีนั้นมีปริมาณอยู่ที่  0.0005 กรัม หรือห่างกัน 57 ล้านเท่า


ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจาก ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ ที่ได้พูดในรายการสัมภาษณ์ชื่อดังอย่าง “โหนกระแส” ที่ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา


3. ซีเซียม-137 จะอยู่ได้นานถึง 30 ปี 


อีกกระแสข่าวในโซเชียลนั้นมีบางเพจและบางรายให้ข้อมูลว่าซีเซียม-137 จะสามารถอยู่ในอากาศหรือปนเปื้อนได้นานถึง 30 ปี โดยอ้างจากค่าที่เรียกว่า "Half-Life" ของซีเซียม อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีความคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะคำว่าว่าฮาล์ฟ-ไลฟ์ (Half-Life) ในที่นี้แปลว่า ค่าครึ่งชีวิต หรือระยะเวลาที่ปริมาณของซีเซียม-137 จะหายไปครึ่งหนึ่งของที่เคยมีจากการแผ่รังสีอย่างต่อเนื่อง


โดยสมมติตัวอย่างว่า ถ้ากำหนดให้ในปัจจุบันมีซีเซียม-137 ในปริมาณ 1 กิโลกรัม  ในอีก 30.15  ปี ที่เป็นค่าครึ่งชีวิตของแร่ซีเซียม-137 ก็จะเหลือปริมาณ 500 กรัม ดังนั้น ปริมาณของสารซีเซียม-137 ที่หลุดรั่วออกมาจากจังหวัดปราจีนบุรีที่เดิมทีมีค่า 0.0005 กรัม ก็จะเหลือเพียง 0.00025 กรัม ในอีก 30 ปี ข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่สารกัมมันตรังสีตกค้างจากซีเซียม-137 จะส่งผลอันตรายร้ายแรง


ที่มาข้อมูล Wikipedia, สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ, Kapook

ที่มารูปภาพ Unsplash/Drama-Addict

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง