TNN online วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

TNN ONLINE

สังคม

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความเป็นมา เหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดพระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ประกาศให้มีวันอาสาฬหบูชาและถือปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบัน

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความเป็นมา เหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดพระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และประเทศไทยเป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ประกาศให้มีวันอาสาฬหบูชาและถือปฏิบัติมาจนกระทั่งปัจจุบัน

"วันอาสาฬหบูชา" ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนปุริมพรรษา 1 วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้

และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา

แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ความหมาย วันอาสาฬหาบูชา คืออะไร

คำว่า "อาสาฬหบูชา" เป็นรูปภาษาบาลี ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปุณณมีบูชา" หรืออาสาฬหปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 8 เป็นชื่อการทำบุญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งปรารภการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นเหตุ

คำว่า "อาสาฬหะ" เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหลายในท้องฟ้า เมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ อาสาฬหะ ซึ่งเรียกว่าพระจันทร์เสวยอาสาฬหฤกษ์นั้น เป็นระยะเวลาที่ตรงกับเดือนที่ 8 ของไทย

ดังนั้น คำว่า "อาสาฬหะ" จึงเป็นชื่อของ เดือนที่ 8 หรือแปลว่า เดือน 8 (ตามจันทรคติ) ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์อาสาฬหะเต็มบริบูรณ์ คือ มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า อาสาพหปุณณมีดิถี แปลว่า วันที่มีดวงจันทร์เต็มดวงแห่งเดือน 8 คือ วันที่มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในเดือน 8 ได้แก่ วันเพ็ญ เดือน 8

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ประวัติและความเป็นมา "วันอาสาฬหบูชา"

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เดือน 6 นั้นแล้ว พระองค์ได้ประทับอยู่ในบริเวณที่ตรัสรู้นั้นตลอด 7 สัปดาห์ (49 วัน) คือ

สัปดาห์ที่ 1 ประทับอยู่ ณ ที่ที่ตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น

ได้แก่ กฏแห่งเหตุผล ทรงพิจารณาทบทวนอยู่ตลอด 7 วัน

สัปดาห์ที่ 2 เสด็จจากที่ตรัสรู้ไปทางทิศอีสานของตันพระศรีมหาโพธิ ประทับยืนกลางแจ้ง เพ่งดูต้นพระศรีมหาโพธิ

โดยไม่กระพริบพระเนตรอยู่ ณ ที่แห่งเดียวตลอด 7 วัน เพื่อเป็นการบูชาตันพระศรีมหาโพธินั้น สถานที่ที่ประทับยืนนั้นภายหลัง เรียกว่า อนิมิสสเจดีย์

สัปดาห์ที่ 3 เสด็จไปประทับในที่กึ่งกลางระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิกับอนิมิสสเจดีย์ ทรงจงกรม ณ ที่ตรงนั้นตลอด 7 วัน สถานที่ที่ทรงจงกรมนั้นภายหลัง เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ 4 เสด็จไปทางทิศพายัพของต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับนั่งในเรือนแก้ว พิจารณาพระอภิธรรมอยู่ตลอด 7 วัน

สถานที่ที่ประทับนั้นภายหลัง เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ 5 เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นพระศรีมหาโพธิประทับที่ใต้ต้นไทร ชื่อ อชปาลนิโครธ เพราะเป็นที่อาศัยของ

คนเลี้ยงแพะ อยู่ตลอด 7 วัน ในระหว่างนั้น ทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่ง ซึ่งทูลถามในเรื่องความเป็นพราหมณ์

สัปดาห์ที่ 6 เสด็จไปทางทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับที่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน ฝนตกพรำตลอดเวลา พญามุจลินท์นาคราชมาวงขดล้อมพระองค์และแผ่พังพานปกป้องบังฝนให้พระองค์ ทรงเปล่งอุทานสรรเสริญความสงัดและความไม่เบียดเบียนกันว่าเป็นสุขในโลก

สัปดาห์ที่ 7 เสด็จไปทางทิศทักษิณของต้นพระศรีมหาโพธิ ประทับที่ใต้ต้นไม้ราชายตนะ (ต้นเกด) เสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 วัน มีพ่อค้าที่เป็นพี่น้องกัน 2 คน ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เป็นนายกองเกวียน เดินทางจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงนำข้าวสัตตุผงสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงกรังของตนเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับเสวยเสร็จแล้ว ทั้งสองพ่อค้าก็ประกาศตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นที่พึ่ง เวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์

นับเป็นอุบาสกคู่แรกที่เป็นเทววาจิกะ เปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมเป็นที่พึ่ง

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

เมื่อล่วงสัปดาห์ที่ 7 แล้ว พระองค์เสด็จกลับมาประทับที่ใต้ต้นไทร ชื่อ อชปาลนิโครธ อีก ทรงดำริว่าพระองค์ควรจะมีสิ่งที่ควรเคารพกราบไหว้ แต่ก็ยังไม่เห็นใครซึ่งเป็นผู้สูงสุดด้วยคุณธรรม ควรแก่การคารวะ ทรงเห็นว่า พระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั่นเอง เป็นธรรม อันประเสริฐควรแก่การเคารพอย่างสูง ต่อแต่นั้นทรงคำนึงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตามได้ จึงท้อพระทัยที่จะสอนสัตว์ แต่อาศัยพระมหากรุณาเป็นที่ตั้ง ทรงเห็นว่าโลกนี้ ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมี ทรงเล็งเห็นถึงบุคคล 4 เหล่า เปรียบกับดอกบัว 4 ประเภท คือ

1. อุคฆฏิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่มีอุปนิสัยสามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดเมื่อได้ฟังคำสอน เหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นน้ำแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้รับแสงพระอาทิตย์ในวันนั้น

2. วิปจิตัญญู ได้แก่ ผู้ที่สามารถจะรู้ธรรมวิเศษได้ต่อเมื่อขยายความย่อให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับน้ำ จักบานในวันรุ่งขึ้น

3. เนยยะ ได้แก่ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอ ไม่ทอด ทิ้ง จึงจะได้รู้ธรรมวิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากน้ำ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ แต่จะโผล่แล้วบาน

4. ปทปรมะ ได้แก่ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้วก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำติดกับเป๊อกตม รังแต่จะเป็นภักษาของปลาและเต่า

เมื่อพระองค์ทรงเห็นด้วยพระปัญญาว่า บุคคลที่ควรจะรู้ตามธรรมของพระองค์ยังมีอยู่ จึงตกลงพระหฤทัยที่จะแสดงพระธรรมสั่งสอนมหาชน ทรงดำริหาผู้ที่ควรโปรดก่อน ทรงนึกถึงอาฬารดาบส และอุททกดาบส ซึ่งพระองค์ได้เคยไปศึกษาลัทธิของท่านมาก่อน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นบุญไปแล้ว ทรงนึกถึงปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีอุปการะแก่พระองค์มาก ได้เป็นอุปัฎฐากของพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา จึงทรงตัดสินพระทัยว่า ควรโปรดปัญจวัคคีย์ก่อน พระองค์จึงเสด็จออกจากโคนตันไทรนั้น มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ในตอนเย็น ขึ้น 14 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ พระพุทธองค์เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัญจวัคคีย์ พอเสด็จเข้าแนวป่า ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธองค์แต่ไกล จึงนัดหมายกันว่า พระสมณโคดมเลิกความเพียร เวียนมาเพื่อความมักมาก คงจะไม่ได้ตรัสรู้ มาหาเรา พวกเราอย่าไหว้ อย่าลุกรับ และอย่ารับบาตรจีวร จะตั้งไว้ให้เพียงอาสนะเท่านั้น เมื่อพระองค์ทรงปรารถนานั่งก็จะได้นั่ง ครั้นพระองค์เสด็จถึง ต่างก็ลืมข้อนัดหมายที่

ให้กันไว้ พากันลุกขึ้นต้อนรับ กราบไหวั รับบาตร ตักน้ำล้างพระบาท ทูลเชิญให้ประทับนั่งแล้วต่างก็ทูลถามทุกข์สุขตามธรรมเนียม แต่พูดกับพระองค์อย่างไม่เคารพ คือ ใช้คำพูดแทนพระองค์ว่า อาวุโส พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่า พระองค์ตรัสรู้แล้ว จะแสดงธรรมให้ฟัง ปัญจวัคคีย์ก็พากันคัดค้านด้วยถ้อยคำต่างๆ ในที่สุด พระองค์จึงทรงชี้แจงเตือนให้ระลึกว่า พระองค์เคยกล่าวเช่นนี้มาก่อนบ้างหรือไม่ ปัญจวัคคีย์ระลึกได้ ต่างก็พร้อมกันถวายบังคม ขอฟังธรรมของ พระพุทธองค์ ค่ำวันนั้น พระองค์ประทับอยู่กับปัญจวัคคีย์

รุ่งขึ้น วันเพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ เวลาดวงอาทิตย์กำลังจะตก ดวงจันทร์กำลังจะขึ้น พระองค์จึงเริ่มแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นเทศนากัณฑ์แรก โปรดปัญจวัคคีย์ สาระของเทศนากัณฑ์นี้ คือ ทรงแสดงที่สุด 2 ประการ ได้แก่ การประกอบตนให้ลำบากด้วยทรมานกาย และการประกอบตนให้เพลิดเพลินในกามสุข ทั้งสองนี้เป็นของเลวทรามไม่ควรปฏิบัติ ควรปฏิบัติทางสายกลาง แล้วทรงแสดงทางสายกลาง ซึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ อริยมรรค 8 ประการ ได้แก่

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ มีความรู้ความเข้าใจอริยสัจ 4 ประการ

2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดในการออกจากกิเลส ในการไม่ปองร้าย ในการไม่เบียดเบียน

3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจากการพูดปด เว้นจากการพูดส่อเสียด คือ ยุยงให้เขาแตกร้าวกัน เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดเหลวไหลไร้สาระ

4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ เว้นจากลักทรัพย์ เว้นจากประพฤติผิดในกาม

5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากอาชีพที่ผิดหรือทุจริต ประกอบแต่อาชีพที่ถูกที่ควร

6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรระวังมิให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีให้เกิดขึ้น เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ดำรงอยู่หรือเจริญยิ่งขึ้น

7. สัมมาสติ ระลึกชอบคือ ตั้งสติกำหนดพิจารณาความเป็นไปเกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ที่เรียก เวทนา เกี่ยวกับจิต เกี่ยวกับธรรมะ

8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือ ทำใจให้สงบระงับจนมีอารมณ์เป็นหนึ่งอย่างแน่วแน่

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ต่อจากนั้น พระองค์ทรงแสดงอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นสัจธรรมที่เที่ยงแท้แน่นอนที่ใครคัดค้านไม่ได้ เพราะเป็นความจริงที่ประเสริฐสุด คือ 

1.ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ 

2.สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา หรือความทะยานอยาก

3.นิโรธ ความดับทุกข์ คือ ดับตัณหาได้

4.มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรค 8 ประการ

พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า เมื่อรู้แล้วอาจยืนยันได้ว่า ตรัสรู้ โดยชอบ ถึงความหลุดพ้นและสิ้นชาติสิ้นภพแน่นอน ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ ท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมขึ้นทางปัญญาว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา" 

พระองค์ทรงทราบว่โกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่าอัญญาสิๆ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้ว เพราะพระอุทานนี้ ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า "อัญญาโกณฑัญญะ" 

ต่อนั้น ท่านโกณฑัญญะก็ทูลขอบรรพชา พระองค์ประทานเอหิภิกขุ อุปสัมปทา ให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยด้วยพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวที่แล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" พระอัญญาโกณฑัญญะนับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนา

สรุปได้ว่า วันเพ็ญ เดือน 8 มีความสำคัญเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนาอยู่หลายประการ นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์อันสำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์อีกอย่างหนึ่ง คือ พระองค์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระสิริมหามายาพุทธมารดาในวันเพ็ญ เดือน 8

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

วันเพ็ญ เดือน 8 นี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในรอบปี เพราะเป็นวันที่มีเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา ได้แก่

ปฐมเทศนา ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก กล่าวได้ว่า พระธรรมหรือพระพุทธศาสนาเกิดในวันเพ็ญเดือน 8 หรือวันเพ็ญ เดือน 8 เป็นวันเกิดแห่งพระพุทธศาสนาก็ได้

ประกาศธรรมจักร พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักรเป็นครั้งแรกได้แก่ ทรงแสดงอริยสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ อันเป็นองค์แห่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและความเชื่อถือของชาวโลกที่มีอยู่เดิมให้เข้าสู่จุดที่ถูกที่ควรคือความจริง (สัจธรรม) หรือจะกล่าวว่า วันเพ็ญ เดือน 8 เป็นวันที่เกิดการปฏิวัติความเชื่อถือของชาวโลกครั้งสำคัญก็ได้

เกิดปฐมอริยสาวก พระอริยสาวกองค์แรกเกิดขึ้นในโลกในวันเพ็ญ เดือน 8 ได้แก่ ท่านโกณฑัญญะ ผู้ฟังปฐมเทศนา ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

เกิดพระสงฆ์ เมื่อท่านโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาในวันเพ็ญ เดือน 8 นั้นพระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาพระโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา

เกิดพระรัตนตรัย เมื่อพระโกณฑัญญะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์แล้ว ก็เป็นอันมีพระรัตนะครบ 3 คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย ในวันเพ็ญ เดือน 8 นั้น เพราะวันเพ็ญ เดือน 8 มีเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนาหลายประการดังกล่าวมานี้ซึ่งเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทำสักการบูชากันเป็นพิเศษเรียกว่า "อาสาฬหบูชา"

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ที่ประกาศให้มีวันอาสฬหบูชา

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้มีอาสาฬหบูชาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2501 พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรีให้เพิ่มวันปฏิบัติพุทธศาสนพิธีขึ้นอีกวันหนึ่ง คือ วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

บทสวดมนต์ คำบูชา วันอาสาฬหบูชา

ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา โย โน

ภะคะวา สัตถา ยัสสะ จะ มะยัง ภะคะวะโต ธัมมังโรเจมะ อะโหสิ โข โส

ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ สัตเตสุ การุญญัง ปะฏิจจะ กะรุณา

ยะโก หิเตสี อะนุกัมปัง อุปาทายะ อาสาฬหะปุณณะมิยัง พาราณะสิยัง

อิสิปะตะเน มิคะทาเย ปัญจะวัคคิยานัง ภิกนัง อะนุตตะรัง

ธัมมะจักกัง ปะฐะมัง ปะวัตเตตวา จัตตาร อะริยะสัจจานิ ปะกาเสสิฯ

ตัสมิญจะ โข สะมะเย ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง ปะมุโข

อายัสมา อัญญาโกณทัญโญ ภะคะวะโต ธัมมัง สุตวา วิระชัง วีตะมะลัง

ธัมมะจักขุง ปะฏิละภิตวา ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง

นิโรธะธัมมันติ ภะคะวันตัง อุปะสัมปะทัง ยาจิตวา ภะคะวะโตเยวะ

สันติกา เอหิภิกขปะสัมปะทัง ปะฏิละภิตวา ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย

อะริยะสาวะกะสังโฆ โลเก ปะฐะมัง อุปปันโน อะโหสิฯ พุทธะระตะนัง

ธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนันติ ติระตะนัง สัมปุณณัง อะโหสิฯ

มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง อาสาฬหะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ

ภะคะวะโต ธัมมะจักกัปปะวัตตะนัง กาละสัมมะตัง อะริยะสาวะกะสังฆะ

อุปปัตติกาละสัมมะตัญจะ ระตะนัตตะยะสัมปูระณะกาละสัมมะตัญจะ

ปัตวา อิมัง ธานัง สัมปัตตา อิเม สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน

กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภูจเจ

คุเณ อะนุสสะรันตา อิมัง ถูปัง (หรือ อิมัง พุทธะปฏิมัง) ติกขัตตุง

ปะทักชิณัง กะริสสามะ ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานาฯ

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ

อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกาเร

ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ

วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

คำแปล

เราทั้งหลาย ถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแลว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดเป็นพระศาสดาของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลายชอบใจซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง 

ทรงอาศัยความการุญในสัตว์ทั้งหลาย ทรงพระกรุณาแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัยความเอ็นดูได้ยังพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป ทรงประกาศอริยสัจ 4 เป็นครั้งแรก แก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี ในวันอาสาฬหปุณณมี 

อนึ่ง ในสมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วได้ธรรมจักษอันบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา" 

จึงทูลขออุปสมบทกับพระผู้มีพระภาค ได้รับอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุแล้วจากสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้นแล ได้เป็นพระอริยะสงฆ์สาวกแล้ว ในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค เกิดขึ้นเป็นองค์แรกในโลก

อนึ่ง ในสมัยแม้นั้นแล พระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก พระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก

บัดนี้ เราทั้งหลาย มาประจวบมงคลสมัยอาสาฬหปุณณมีวันเพ็ญอาสาฬหมาส ที่รู้พร้อมกันว่าเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงประกาศพระธรรมจักร เป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยสงฆ์สาวก และเป็นวันที่พระรัตนตรัยสมบูรณ์ คือ ครบ 3 รัตนะ จึงมาประชุมพร้อมกันแล้ว ณ ที่นี้ 

ถือสักการะเหล่านี้ ทำกายของตนให้เป็นดังภาชนะรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตามเป็นจริงทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคนั้น จักทำประทักษิณ สิ้นวาระสามรอบ ซึ่งพระสถูป (พระพุทธปฏิมา) นี้ บูชาอยู่ด้วยสักการะอันถือไว้แล้วอย่างไร 

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้ว ยังปรากฎอยู่ด้วยพระคุณสมบัติ อันข้าพเจ้าทั้งหลาย จะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ จงทรงรับเครื่องสักการะ อันข้าพเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญฯ


วันอาสาฬหบูชา 2565 เปิดประวัติความสำคัญ บทสวดมนต์ คำบูชา ระลึกถึงพระรัตนตรัย

ข้อมูลจาก หนังสือวันอาสาฬหบูชา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

ภาพจาก TNN ONLINE 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง