TNN online เช็กให้ชัวร์ อันตรายหรือไม่? เปิดเกณฑ์การนำ "กัญชา กัญชง" ใช้ในการปรุงอาหาร

TNN ONLINE

สังคม

เช็กให้ชัวร์ อันตรายหรือไม่? เปิดเกณฑ์การนำ "กัญชา กัญชง" ใช้ในการปรุงอาหาร

เช็กให้ชัวร์ อันตรายหรือไม่?  เปิดเกณฑ์การนำ กัญชา กัญชง ใช้ในการปรุงอาหาร

หลังปลดล็อกกัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติด การนำส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร โดยสามารถขอรับเลขสารบบอาหารได้กรณีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก อย. หากอยู่ต่างจังหวัดสอบถามได้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการปลดล็อกกัญชา กัญชง ซึ่งมีผลในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขานรับการปลดล็อกเพื่อให้กัญชาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างมีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังคงไว้เพื่อความปลอดภัย 



ซึ่งปัจจุบันการนำส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD มาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย ต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากเปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน รากและใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย และ (ฉบับที่ 429) พ.ศ. 2564 ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากสารสกัดแคนนาบิไดออล 



โดยสามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร เพื่อรับเลขสารบบอาหาร และต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC/CBD และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ต้องดำเนินการยื่นขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหารและเลขสารบบอาหาร โดยกรณีสถานที่ผลิตตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้จากกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือหากสถานที่ผลิตตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามจังหวัดนั้น ๆ


รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สถานประกอบการอาหารที่ปรุงเพื่อจำหน่ายภายในร้านอาหาร หรือสถานที่อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน รวมถึงการบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อ ไม่ต้องขออนุญาตกับ อย. แต่สถานประกอบการ ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ดังนี้ 



(1) แสดงข้อแนะนำ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร 


(2) แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชงในภาชนะบรรจุ ได้แก่ “เด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน” “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที” “


ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocanabionol ,THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Canabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน” และ “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล” 


สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตบรรจุในภาชนะบรรจุจากสถานประกอบอาหารที่ปรุงเพื่อจำหน่าย ขอความร่วมมือให้แสดงข้อความ “ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนของกัญชา/กัญชง” หรือ “สัญลักษณ์ที่สื่อถึงกัญชา/กัญชง”หรือข้อความที่สื่อความหมายในทำนองเดียวกัน หรือมีการสื่อสารช่องทางแนะนำการบริโภคที่ถูกต้องตามประกาศฯของกรมอนามัยบนภาชนะบรรจุอาหาร








ข้อมูล :  กระทรวงสาธารณสุข 

ภาพ TNNONLINE  

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง