TNN online อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เร่งนายจ้างเลิกจ้างเร็วขึ้น

TNN ONLINE

สังคม

อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เร่งนายจ้างเลิกจ้างเร็วขึ้น

อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เร่งนายจ้างเลิกจ้างเร็วขึ้น

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เชื่อว่าข้อเสนอปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ ไม่สามารถทำได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและการเงินเฟ้อที่อาจจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก รวมถึงอาจเป็นตัวเร่งรายจ้างให้ปลดลูกจ้างเร็วขึ้น

วันนี้ (28 เม.ย.65) ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความคิดเห็นถึงกรณีองค์กรผู้ใช้แรงงาน เสนอให้มีการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาททั่วประเทศ 

ดร.เดชรัต ให้ความเห็นว่า แม้จะเห็นด้วยกับการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 492 บาททั่วประเทศ ก็มองว่าค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศ ถือว่าค่อนข้างสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ถึง 5 เท่า 

ประกอบกับปัญหาของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ยังคงประสบปัญหาถึง 2 อย่างในขณะนี้ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ กับปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงชะลอตัว ทั้งจากภาวะสงครามและราคาน้ำมัน ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูงมาก จะส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงมากขึ้น และเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังจะฟื้นตัวก็อาจจะชะลอตัวลงไปอีก 

อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เร่งนายจ้างเลิกจ้างเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันที่เฉลี่ยอยู่ที่ 300 บาท ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดเมื่อปี 2556 รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และหากเทียบกับความสามารถในการผลิตของแรงงานในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าแรงงานมีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี ดังนั้นจึงควรที่จะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ที่ราวร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเชื่อว่าหากปรับในอัตราคงที่ ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 360-380 บาท 

นอกจากนี้พบว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงตลอดระยะเวลา 10 ปี ถือว่ามีอัตราการปรับขึ้นค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันควรพิจารณาปรับค่าแรงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เกณฑ์ 2 ปัจจัย คือ 

1.อัตราค่าครองชีพในปัจจุบันหรือภาวะเงินเฟ้อ ที่หากมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง ก็ควรที่จะมีการปรับอัตราค่าแรง ให้แรงงานสามารถมีกำลังในการซื้อที่เท่าเดิม  และ 2.ควรจะพิจารณาจากความสามารถในการผลิตของแรงงาน ที่หากมีความสามารถมาก นายจ้างก็ควรให้รางวัลตอบแทนการผลิตที่แรงงานสร้างให้ 

อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ทำเงินเฟ้อพุ่ง เร่งนายจ้างเลิกจ้างเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินไป จะส่งผลเสีย 2 อย่างตามมา คือ 1.สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะฟุบต่อเนื่องยาวนาน และจะทำให้แรงงานอาจถูกเลิกจ้าง หรือสูญเสียตำแหน่งงานในหลายสาขาการผลิต 

และ 2.จะเป็นการกระตุ้นให้ต้นทุนของนายจ้างในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และในระยะยาวจะส่งผลให้นายจ้างลงทุนในการนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี เข้ามาใช้ทดแทนแรงงาน ซึ่งจะทำให้แรงงานถูกลดจำนวนลง.


ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง