TNN online นักดาราศาสตร์พบ "สัญญาณวิทยุประหลาด" ใจกลางทางช้างเผือก!

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นักดาราศาสตร์พบ "สัญญาณวิทยุประหลาด" ใจกลางทางช้างเผือก!

นักดาราศาสตร์พบ สัญญาณวิทยุประหลาด ใจกลางทางช้างเผือก!

นักดาราศาสตร์ จากประเทศออสเตรเลียค้นพบ "สัญญาณวิทยุประหลาด" จากใจกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก

วันนี้( 16 ต.ค.64) เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และทีมวิจัย ค้นพบสัญญาณวิทยุแปลกประหลาดจากวัตถุที่มีชื่อว่า ASKAP J173608.2−321635 ตั้งอยู่บนแผ่นระนาบ ห่างใจกลางของกาแล็กซี่ทางช้างเผือกออกไป ประมาณ 4° จากการศึกษาผ่านเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ASKAP VAST (Australian Square Kilometre Array Pathfinder Variables and Slow Transients) และกล้องโทรทรรศน์วิทยุ MeerKAT ของประเทศแอฟริกาใต้  สัญญาณดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวัตถุใดที่เคยค้นพบ และอาจเป็นไปได้ว่ายังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อนอีกด้วย

สำหรับชื่อ J173608.2-321635 นั้น เรียกตามตำแหน่งการค้นพบของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ASKAP VAST ซึ่งตรวจหาไม่พบในช่วงแรก แต่ต่อมาพบว่ามีความเข้มสัญญาณสูงขึ้นแล้วจางหายไป และกลับมามีความเข้มของสัญญาณสูงอีกครั้ง ทีมวิจัยสามารถตรวจจับสัญญาณวิทยุจากแหล่งกำเนิดดังกล่าวได้ทั้งสิ้น 6 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน ในปี ค.ศ. 2020 

นอกจากนี้ ยังได้พยายามติดตามสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอื่นด้วย เช่น ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ในช่วงอินฟราเรด แสงที่ตามองเห็นไปจนถึงรังสีเอกซ์ และใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ Parkes ประเทศออสเตรเลีย แต่ก็ไม่สามารถตรวจจับสัญญาณได้  

ท้ายที่สุดได้ตัดสินใจใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ไวต่อการตอบสนองสัญญาณที่ดีกว่า เรียกว่า เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ MeerKAT ในประเทศแอฟริกาใต้  จึงสามารถตรวจจับสัญญาณประหลาดนี้ได้ แต่พบว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างมาก นั่นคือ สัญญาณหายไปเป็นวัน ทั้งที่เคยตรวจจับได้ว่าปรากฏเป็นเวลายาวนานติดกันหลายๆ สัปดาห์จากการใช้กล้อง ASKAP VAST สังเกตการณ์ก่อนหน้านี้

คลื่นวิทยุที่พวกเราคุ้นเคยนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มีการส่ายของคลื่นไฟฟ้าในหลากหลายทิศทางผสมกัน แต่สัญญาณคลื่นวิทยุประหลาดที่ตรวจจับได้นี้ ส่วนใหญ่มีการส่ายของคลื่นไฟฟ้าไปในทิศทางเดียว หรือเรียกว่ามีโพลาไรเซชันที่สูงมาก บ่งชี้ว่าวัตถุที่กำเนิด หรือสภาพแวดล้อมโดยรอบวัตถุที่กำเนิดคลื่นนี้อาจจะมีสนามแม่เหล็กทรงพลังเป็นอย่างมาก หรืออาจจะสอดคล้องกับวัตถุเช่น ดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กอันทรงพลัง อย่างไรก็ตาม ดาวนิวตรอนประเภทนี้โดยทั่วไปนั้นมักจะมาพร้อมกับการเปล่งแสงในช่วงแกมมาหรือเอกซเรย์ที่สว่าง ซึ่งไม่พบในกรณีนี้

นอกจากนี้ สัญญาณดังกล่าวยังมีการแปรเปลี่ยนความเข้มของสัญญาณสูงถึง 100 เท่าและมีลักษณะเปิด-ปิดสัญญาณแบบสุ่ม (เหมือนหลอดไฟติด ๆ ดับ ๆ) ซึ่งในตอนแรกทีมวิจัยสันนิษฐานว่ารูปแบบเหล่านี้คล้ายกับการเกิดพัลซาร์ (พัลซาร์เป็นดาวฤกษ์ที่กำลังใกล้จะตาย มีขนาดเล็ก ความหนาแน่นสูง และหมุนอย่างรวดเร็วพร้อมกับปลดปล่อยคลื่นวิทยุออกมา) หรือไม่ก็เป็นดาวฤกษ์ประเภทหนึ่ง ที่ปลดปล่อยสัญญาณแรงมากคล้ายการลุกจ้าของลมสุริยะ แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการตรวจสอบข้างต้น พบว่า สัญญาณจริง ๆ ที่ตรวจวัดได้ ไม่ตรงกับวัตถุทั้งสองประเภทที่สันนิษฐานไว้ 

แม้งานวิจัยชิ้นนี้ ยังไม่สามารถเฉลยหรือหาคำตอบได้ว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสัญญาณคลื่นวิทยุแปลกประหลาดจากบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา  แต่ในอนาคตอันใกล้การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ SKA (Square Kilometre Array) อาจจะช่วยไขปริศนานี้ให้กับนักดาราศาสตร์ได้ทำการศึกษาหาคำตอบนี้ต่อไปในอนาคต 



ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  

ภาพจาก AFP