TNN online นักวิทย์ฯเสนอใช้ฝุ่นดวงจันทร์ “แก้ปัญหาโลกร้อน”

TNN ONLINE

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นักวิทย์ฯเสนอใช้ฝุ่นดวงจันทร์ “แก้ปัญหาโลกร้อน”

นักวิทย์ฯเสนอใช้ฝุ่นดวงจันทร์ “แก้ปัญหาโลกร้อน”

นักวิทยาศาสตร์เสนอการนำฝุ่นจากดวงจันทร์มายังจุดที่มีแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เพื่อหวังบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน

วันนี้ ( 10 ก.พ. 66 )ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ในวารสารสิ่งแวดล้อม PLOS Climate  โดยทีมนักวิจัยได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำเอา “ฝุ่น” บนดวงจันทร์ ให้ลอยขึ้นมาอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ที่เชื่อว่าจะเป็นการใช้เป็น “เกราะ” ในการปกป้องรังสีบางส่วนจากดวงอาทิตย์ที่แผ่มายังโลกได้

ในขั้นแรกของการศึกษา ทีมนักวิทยาศาสตร์มองถึงการใช้ “ฝุ่นจากโลกของเราเอง” ในการสร้างเกราะป้องกันรังสี แต่เจะมีมูลค่าสูง และยากลำบากเกินไป

พวกเขาจึงหันความสนใจไปยัง “ฝุ่นจากดวงจันทร์” ที่เชื่อว่ามีราคาถูกกว่า และจะมีประสิทธิภาพที่ดีเทียบเท่ากัน

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า คุณสมบัติโดยธรรมชาติของ “ฝุ่นจากดวงจันทร์” สามารถเป็นเกราะป้องกันรังสีที่สมบูรณ์แบบสำหรับโลกได้ แต่จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นกับความสามารถในการล่องลอยอยู่ในวงโคจร ที่จะสร้างร่มเงาให้กับโลกของเรา 

เบน บรอมลีย์ ผู้จัดทำและศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าวว่า การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่า การใส่ฝุ่นบนดวงจันทร์ไปยังจุดที่มีแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จะช่วยบดบังแสงอาทิตย์ปริมาณมากด้วยมวลเพียงเล็กน้อย

แนวคิดนี้เกิดจากความต้องการกรองรังสีจากดวงอาทิตย์ เพื่อให้โลกไม่ร้อนจนเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาหลายสิบปีแล้ว หากป้องกันรังสีจากแสงอาทิตย์ได้ ร้อยละ1-2 จะช่วยลดอุณหภูมิพื้นผิวโลกลง 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเท่า ๆ กับ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่สามารถกรองแสงดวงอาทิตย์ได้ คือ การฉีดอนุภาคกำมะถันหลายพันล้านอนุภาคขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันไม่มีวันหยุด

การฉีดละอองในชั้นบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์นี้ มีราคาถูก และนักวิทยาศาสตร์รู้ว่าวิธีนี้ได้ผล เพราะการปะทุของภูเขาไฟครั้งใหญ่ ก็เกิดผลในลักษณะนี้ อย่างเมื่อภูเขาไฟปินาตูโบ ในฟิลิปปินส์ระเบิดในปี 1991 อุณหภูมิในซีกโลกเหนือก็ลดต่ำลงราว 0.5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี

แต่ผลกระทบจากการทำให้เกิดปรากฎการณ์แบบนี้คือ ฝนจะไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาฝนในการเพาะปลูก แนวคิดดังกล่าวจึงไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าแนวคิดการใช้ฝุ่นละอองจากดวงจันทร์บดบังรังสีแสงอาทิตย์

ภาพจาก : AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง