เปิดข้อมูล ‘อะฟลาท็อกซิน’ เชื้อราก่อมะเร็งตับ หลีกเลี่ยงได้อย่างไร?
‘อะฟลาท็อกซิน’ เชื้อรามักพบปนเปื้อนอาหารแห้งที่จัดเก็บในที่ความชื้นสูง สารตั้งก่อมะเร็งตับ เราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลในปี 2564 หลังจากมีข่าวปรากฏตามในสื่อต่าง ๆ ถึงประเด็น ‘อะฟลาท็อกซิน ในอาหารแห้งเป็นสารก่อมะเร็งตับ’ ซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อมูลที่จริง ที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกรายงานว่าสารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
ทั้งนี้สารอะฟลาท็อกซินถูกสร้างจากเชื้อราในตระกูล Aspergillus มักพบปนเปื้อนผลผลิตทางการเกษตรหากเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ พริกไทย พริกป่น กระเทียม และหอมแดง เป็นต้น
สารอะฟลาท็อกซินเป็นอันตรายทั้งในมนุษย์และสัตว์ มีความสามารถในการทนความร้อนได้สูง ซึ่งความร้อนที่ใช้ในการหุงต้มอาหารโดยทั่วไปตามบ้านเรือนนั้นไม่สามารถทำลายสารดังกล่าวให้หมดไปได้ เมื่อมีการปนเปื้อนสารพิษดังกล่าวในอาหารและร่างกายได้รับสารนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับ เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งตับ เป็นต้น
ความเป็นพิษที่ส่งผลต่อร่างกายของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่รับ ความถี่ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย อายุ และความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายในแต่ละตัวบุคคล
วิธีการหลีกเลี่ยงอาหารที่มี ‘อะฟลาท็อกซิน’
1.ควรเลือกซื้ออาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ ไม่แตกหรือชำรุด มีส่วนประกอบและมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ
2.ซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่พอเหมาะและสดใหม่ เพื่อลดเวลาในการเก็บวัตถุดิบไม่ให้นานเกินไปและจัดเก็บอย่างเหมาะสม
3.หลีกเลี่ยงการเก็บอาหารแห้งไว้ในบริเวณที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง
4.ในขั้นตอนการปรุงอาหารควรแยกใช้เขียงสำหรับอาหารสด และ อาหารปรุงสุก ใช้น้ำร้อนราดเขียงเมื่อใช้เสร็จแล้ว ผึ่งแดดให้แห้ง เก็บไว้ในที่สะอาด
คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูงสุด
กรมการแพทย์ เปิดข้อมูลสถิติ โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน โดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ
1.มะเร็งตับและท่อน้ำดี
2.มะเร็งปอด
3.มะเร็งเต้านม
4.มะเร็งปากมดลูก
5.มะเร็งเม็ดเลือดขาว
ข้อมูลจาก: กรมการแพทย์
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ