TNN online WHO เผย "โอไมครอน" ติดเชื้อมากขึ้น 3 เท่าในแอฟริกาใต้ แต่วัคซีนยังใช้ได้ผล

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

WHO เผย "โอไมครอน" ติดเชื้อมากขึ้น 3 เท่าในแอฟริกาใต้ แต่วัคซีนยังใช้ได้ผล

WHO เผย โอไมครอน ติดเชื้อมากขึ้น 3 เท่าในแอฟริกาใต้ แต่วัคซีนยังใช้ได้ผล

หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก เรียกร้องให้ทุกประเทศเตรียมความพร้อม อย่าตื่นตระหนกกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ “โอไมครอน” และยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทนเดลตาหรือไม่

วันนี้( 4 ธ.ค.64)  โสมยา สวามีนาธาน (Soumya Swaminathan) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ในวันศุกร์ว่า ขณะที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” (Omicron) ดูเหมือนจะแพร่เชื้อได้เร็วมาก การตอบสนองที่ถูกต้อง คือเตรียมความพร้อม, ระมัดระวัง และอย่าตื่นตระหนก ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต้องปรับสูตรใหม่หรือไม่ และเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดการณ์ว่า โอไมครอนจะกลายเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักระบาดทั่วโลกแทนสายพันธุ์เดลตา (Delta) หรือไม่

องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ส่งเสริมขีดความสามารถด้านสาธารณสุข และฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสโอไมครอน โดยบอกว่า มาตรการควบคุมการเดินทางอาจซื้อเวลาได้ แต่ไม่ใช่คำตอบ ขณะที่การปรากฏขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เรื่องน่าพอใจ แต่โสมยา กล่าวว่า โลกมีความพร้อมดีขึ้นมากเมื่อพิจารณาจากการพัฒนาวัคซีน ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มต้นระบาด จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลอะไรมากเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ โอไมครอน ซึ่งพบระบาดครั้งแรกในแอฟริกาใต้เมื่อเดือนที่แล้วและลุกลามไปในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์เดลตาอยู่แล้ว ก่อนโอไมครอนระบาด

โสมยา กล่าวว่า สายพันธุ์โอไมครอน ดูเหมือนทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น 3 เท่าในแอฟริกาใต้ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่วัคซีนยังใช้ได้ผล เมื่อถูกถามถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิประจำปี เธอกล่าวว่า WHO กำลังเตรียมการทุกอย่าง ซึ่งอาจรวมทั้งการฉีดวัคซีนเพิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชาชนบางกลุ่มอายุ หรือในส่วนของประชากรที่มีความเปราะบาง หรือไม่ก็อาจมีการปรับสูตรวัคซีน

ขณะนี้ โอไมครอนระบาดเข้าสู่เอเชีย, แอฟริกา, อเมริกา, ตะวันออกกลางและยุโรปแล้ว และ 7 ใน 9 จังหวัดของแอฟริกาใต้ ซึ่งพบโอไมครอนระบาดครั้งแรกด้วย รัฐบาลของหลายประเทศเลือกใช้มาตรการคุมเข้มการเดินทางเพื่อหวังสกัดไวรัสดังกล่าว 

ทั้งนี้ โอไมครอนแพร่เชื้อได้สูงมาก และอ้างข้อมูลจากแอฟริกาใต้ ที่พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่สถานการณ์แตกต่างจากเมื่อหนึ่งปีก่อน เรามีความพร้อมมากขึ้น 

ไวรัสสายพันธุ์เดลตา มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากถึงร้อยละ 99 ส่วนสายพันธุ์โอไมครอน แพร่เชื้อได้ง่ายและเร็วกว่า มีโอกาสที่จะแซงกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ยังคาดเดายาก และเร็วเกินไปที่จะสรุปเกี่ยวกับไวรัสโอไมครอนได้ทั้งหมด

ด้านไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรวัคซีนให้เหมาะกับโอไมครอน เนื่องจากขณะนี้ยังมีวัคซีนประสิทธิภาพสูงใช้งานได้ผลดี เราต้องมุ่งเน้นไปที่การแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมมากกว่านี้ ต้องพุ่งเป้าฉีดวัคซีนให้กับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุด 

อย่างไรก็ตาม คริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษก WHO แถลงข่าวในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า ผู้ผลิตวัคซีนควรเตรียมพร้อมความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตน




ภาพจาก AFP


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง