TNN online นับถอยหลัง ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 1 ก.ย. ตอบทุกข้อสงสัยทำอะไรได้บ้างเช็กเลย!

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

นับถอยหลัง ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 1 ก.ย. ตอบทุกข้อสงสัยทำอะไรได้บ้างเช็กเลย!

นับถอยหลัง ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 1 ก.ย. ตอบทุกข้อสงสัยทำอะไรได้บ้างเช็กเลย!

นับถอยหลังพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ วันที่ 1 ก.ย. นี้ เช็กเลยทำอะไรได้บ้าง!

วันนี้ ( 29 ส.ค. 64) จากกรณีเมื่อคืนที่ผ่านมาเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศข้อกำหนด มาตรการผ่อนคลาย ล็อกดาวน์ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินว่าค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แม้จำนวนของผู้ป่วยอาการรุนแรงจะยังคงมีระดับสูงอันเป็นผลจากการสะสมของผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมา แต่ผู้ติดเชื้อร้ายใหม่ในแต่ละวันมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ที่ได้รับการรักษาพยาบาลจนหายป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วย

ดังนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของ ศบค. มีการปรับมาตรการ ข้อกำหนดเพื่อให้สถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดสามารถเปิดดำเนินการได้ หรือ เป็นการผ่อนคลายมาตรการ ล็อกดาวน์  โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.โรงเรียนและสถานศึกษาเปิดทำการหรือไม่? 

- โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาทุกประเภทให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากได้ โดยให้ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาความจำเป็นและการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2.นั่งรับประทานอาหารในร้านได้หรือไม่?

- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มสามารถเปิดให้บริการได้โดยให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา 20.00 น.  แต่จำกัดจำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจำนวนไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจำนวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ 75 ของจำนวนที่นั่งปกติ และให้ใช้บังคับมาตรการนี้กับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย

3.ดื่มสุราในร้านอาหารได้หรือไม่?

- ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

4.ร้านเสริมความงาม-คลีนิคเสริมสวยเปิดหรือไม่? 

- สถานเสริมความงามร้านเสริมสวยแต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการได้

5.ร้านนวดเพื่อสุขภาพเปิดไหม? 

- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพหรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดให้บริการได้เฉพาะการให้บริการนวดเท้า

6.ตลาดนัดเปิดไหม?

- ตลาดนัดให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติจนถึง 20.00 น. เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคหรือบริโภค

7.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดหรือไม่ ?

สามารถเปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา เว้นแต่กิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่กำหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน รายละเอียดดังกล่าวคือ

- คลินิกเวชกรรมเสริมความงามสถานเสริมความงาม สามารถเปิดดำเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมาย ส่วนร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดำเนินการได้ โดยผ่านการนัดหมายและจำกัดเวลาการให้บริการในร้านไม่เกินรายละหนึ่งชั่วโมง

- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพหรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดดำเนินการได้โดยผ่านการนัดหมายและจำกัดเฉพาะการให้บริการนวดเท้า

10. โรงภาพยนตร์-สวนสนุก-สวนน้ำ-ฟิตเนส-ร้านเกม-โรงเรียนกวดวิชาในห้างสรรพสินค้า เปิดให้บริการหรือไม่ ?

- สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุมยังคงให้ปิดการดำเนินการไว้ก่อน

11. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำ กลางแจ้ง เปิดให้บริการหรือไม่?

- สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อการสันทนาการ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ที่เป็นพื้นที่โล่ง สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 20.00 นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี สามารถพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การใช้สถานที่เป็นการเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่นั้น ๆ ได้

ข้อมูลอ้างอิง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/200/T_0001.PDF

ข่าวแนะนำ