TNN online สธ.คาดเริ่มฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงปลายปีนี้

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

สธ.คาดเริ่มฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงปลายปีนี้

สธ.คาดเริ่มฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงปลายปีนี้

สธ.คาดเริ่มฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงปลายปีนี้ พร้อมเร่งฉีดวัคซีนโควิดหญิงตั้งครรภ์ หลังพบยังคงฉีดน้อย อยู่ที่ร้อยละ 4.3 

วันนี้ (22 ส.ค.64) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุในรายการข่าวค่ำ TNN ถึงประเด็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในประชาชนทั่วไป ย้ำว่า ทุกวัคซีนเมื่อฉีดไปซักระยะหนึ่งระดับภูมิคุ้มกันจะลดลง ไม่เฉพาะวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากดูข่าวในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอิสราเอล รัฐบาลได้เริ่มออกคำแนะนำโดยจะให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 เช่น ในกลุ่มผู้สูงอายุ 

สำหรับประเทศไทยได้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เดือนที่แล้ว ในกลุ่มบุคลากรในการแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด ในการปฏิบัติงาน

ส่วนคำแนะนำสำหรับกลุ่มอื่นๆ คงจะทยอยออกมา แต่หลักการคงจะคล้ายกัน คือ จะเริ่มจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากก่อนในการที่รับเชื้อแล้วมีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ทางด้านวัคซีนมีกำหนดการประชุมในเรื่องดังกล่าวสัปดาห์หน้า เพื่อที่จะพิจารณาในเรื่องของลำดับความสำคัญและระยะเวลาการเข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วไป 

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตายไปตั้งแต่เดือนมีนาคม เมษยน ที่ผ่านมา ถึงขณะนี้ประมาณ 5 เดือน ซึ่งในต่างประเทศการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ก็เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนครบไปแล้วมากกว่า 6 เดือน คาดว่า หากเรามีวัคซีนที่เพียงพอ กลุ่มต่อไปที่มีความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงป่วยหนักเสียชีวิต เช่น กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีโอกาสจะได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ก่อนในปลายปีนี้ 

"วัคซีนโควิด-19 ทุกตัวไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อเกือบทั้งหมด แม้แต่วัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ ฉีดแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของวัคซีน คือ ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยวัคซีนที่ไทยมีอยู่ณขณะนี้ ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ ก็สามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ในระดับสูงอย่างน้อย ร้อยละ 70-80 ขึ้นไป

ส่วนการป้องกันการติดเชื้อ ยังป้องกันได้ไม่ดีเท่าไรนักสำหรับวัคซีนซิโนแวค รวมทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ที่พบข่าวการติดเชื้อในต่างประเทศ หลังรับวัคซีนชนิดดังกล่าว" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบาย

สธ.คาดเริ่มฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงปลายปีนี้

ดังนั้น การฉีดเข็ม 3 ความสำคัญอยู่ที่ว่าต้องพิจารณาว่ากลุ่มไหนจะได้รับประโยชน์มากจากการฉีดวัคซีนก่อน ถ้าเป็นวัยทำงาน แข็งแรง มีโอกาสเสียชีวิตน้อยอยู่แล้วทั้งคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและคนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว หากดูจากข้อมูลสถิติ ประมาณ 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ ถึงร้อยละ 67 ส่วนอีกร้อยละ 10 จะเป็นในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว และอีกร้อยละ 10 จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวหรือโรคเสี่ยง

"ถ้าเป็นวัยหนุ่มสาววัยทำงานที่แข็งแรงการจะฉีด กระตุ้นเข็ม 3 ก็อาจจะยังรอได้อยู่ ถึงอย่างไรการติดเชื้อในกลุ่มนี้ไม่ได้นำไปสู่การป่วยที่รุนแรงหรือเสียชีวิต ดังนั้น การพิจารณาจึงต้องพิจารณาหลักความเสี่ยง ของคนที่จะเข้ารับวัคซีนก่อน" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในตอนนี้ เน้นในกลุ่มประชาชนที่มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิต ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ หลังจากมีรายงานการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ทุกสัปดาห์จากโควิด-19  ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่จะต้องฉีดวัคซีนโควิดให้ได้เร็วที่สุดในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงรวมทั้งพื้นที่อื่นๆที่คาดการณ์ว่าจะมีการระบาดในระยะต่อไป 

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ยังคงรับวัคซีนโควิด-19 ในอัตราที่น้อย ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่คาดว่าจะมีประมาณ 5 แสนคน ในจำนวนนี้ ยังคงเข้ารับการฉีดที่น้อยอยู่ ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 21 สิงหาคม เข้ารับวัคซีน 21,600 กว่าคน เฉลี่ยร้อยละ 4.3 ถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จึงเป็นที่มาที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องรณรงค์อย่างเต็มที่เพื่อให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนโควิดให้ได้เร็วที่สุด 

สธ.คาดเริ่มฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นเข็ม 3 ประชาชนกลุ่มเสี่ยงปลายปีนี้

นพ.โสภณ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนโควิด-19 น้อย เนื่องจากว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ปกติส่วนใหญ่ มีโอกาสไปใช้บริการโรงพยาบาลหรือคลินิกในการไปฝากครรภ์ตามกำหนดที่แพทย์นัดส่วนใหญ่ก็จะได้รับคำแนะนำระหว่างตั้งครรภ์ว่าอย่าทานยา หรือรับสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกายเพื่อดูแลสุขภาพของลูกในครรภ์ ซึ่งในกรณีของโรคติดต่อความเสี่ยงของการรับวัคซีนถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้ในการป้องกันการป่วยซึ่งหากติดโควิชมีโอกาสที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตได้

"คำแนะนำในการฉีดวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ออกมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นคำแนะนำที่อาจจะไม่ตรงกับข้อมูลที่รับรู้มาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ว่าตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 น่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่

ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงแนะนำการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ว่าดีแน่นอน ถึงแม้จะมีโอกาสเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ได้ แต่ประโยชน์ที่จะได้รับในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตมีมากกว่าข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในเปอร์เซนที่น้อย" รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง