TNN online "หมอยง" เลคเชอร์ละเอียด 20 ข้อ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

"หมอยง" เลคเชอร์ละเอียด 20 ข้อ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

หมอยง เลคเชอร์ละเอียด 20 ข้อ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เผย วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ใช้สายพันธุ์ของไวรัสดั้งเดิม ตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันลดลง คาดในอนาคตโควิด-19 ยังอยู่ แต่จะไปเป็นมากในเด็ก ซึ่งมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่อย่างมาก

วันนี้ (28 มิ.ย.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ โควิด 19 วัคซีน ความรู้เกี่ยวกับ โควิด 19 วัคซีนมีเนื้อหาดังนี้...

1. วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่และองค์การอนามัยโลกรับรอง สามารถลดความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

2. วัคซีนยังไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องคงปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตใหม่เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

3. ประชากรโลกมี 7,000 ล้านคน ความต้องการของวัคซีนจึงมีสูงมาก ที่จะยุติการระบาดของโรคนี้ หรือจะต้องให้วัคซีนให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านคน หรือ 10,000 ล้านโดส ขณะนี้เพิ่งฉีดไปร่วม 3,000 ล้านโดส  1 ใน 3 ฉีดในประเทศจีน และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวย ทำให้วัคซีนในปัจจุบันยังมีความขาดแคลน 

4. วัคซีนในปัจจุบันนี้แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือเชื้อตาย โปรตีนซับยูนิต ไวรัสเวกเตอร์ และ  mRNA เรียงตามเทคโนโลยีจากเก่าไปหาใหม่ เทคโนโลยีเชื้อตายใช้กันมากกว่า 50 ปี ส่วน mRNA วัคซีน เป็นวัคซีนที่ใช้ครั้งแรกในมนุษย์

5. อาการข้างเคียงชนิดเชื้อตายจะมีอาการข้างเคียงเฉพาะที่เช่นเจ็บบวมแดงร้อน บริเวณที่ฉีด และอาการตามระบบ เช่นไข้ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว พบได้น้อยมาก และน้อยกว่าไวรัส เวกเตอร์และ mRNA รวมทั้งอาการรุนแรงอย่างอื่น เช่นการเกิดลิ่มเลือด VITT ใน virus Vector และ TTP  ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกี่ยวพันกับ mRNA วัคซิน

6. ระดับภูมิต้านทานของ mRNA และไวรัส Vector จะสูงกว่าชนิดเชื้อตาย และโปรตีนซับยูนิต

7. ระดับภูมิต้านทานที่ขึ้นของวัคซีน จะขึ้นเป็นแบบเอกซ์โพเนนเชียล ดังนั้นความแตกต่างของบุคคลจึงมีมาก เช่นบางคนได้หลักสิบ บางคนได้หลักร้อย บางคนได้หลักพัน บางคนได้หลักหมื่น เราจึงไม่ใช้ว่า คนนี้มีภูมิต้านทานสูงกว่าคนนี้สิบเท่า หรือร้อยเท่า ในทางห้องปฏิบัติการ การตรวจวัดภูมิต้านทาน เราจะทำน้ำเหลืองให้เจือจางเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันเท่าอยู่แล้ว ในกรณีที่วัดภูมิต้านทานที่สูง

ตัวอย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบบี ใช้ระดับต่ำสุดในการป้องกันโรคเพียงแค่ 10 การให้วัคซีนบางคนขึ้นเป็นหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น และหลักแสน ก็ยังเคยเจอ เช่นเดียวกันกับการวัดปริมาณไวรัสในผู้ป่วย (viral load) จะใช้เป็น สเกล Log แต่โดยมากเมื่อขึ้นสูงก็จะลงเร็วมาก ร่างกายจะไม่เก็บไว้ ถ้าเก็บไว้ระดับ globulin จะสูงมาก จะปลดเป็นกองหนุนหมด และเมื่อเชื้อโรคเข้ามา ก็จะระดมออกมาอย่างรวดเร็ว เหมือนมีหน่วยความจำหรือฝึกไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากโควิด 19  มีระยะฟักตัวสั้น จึงทำให้การป้องกันการติดเชื้อไม่สมบูรณ์ แต่สามารถป้องกันความรุนแรงหรือเสียชีวิตได้

8. ปัจจุบันยังไม่มีบรรทัดฐานที่ว่าระดับภูมิต้านทานขนาดไหนจะป้องกันโรคได้ ดังนั้นการวัดภูมิต้านทานจึงใช้เปรียบเทียบกับผู้ที่หายป่วยจากโรคแล้ว ว่าภูมิที่วัคซีนสร้างขึ้นเท่าเทียมหรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการหายจากโรคแล้ว

9. ในผู้ที่หายจากโรคแล้ว มีระดับภูมิต้านทานที่แตกต่างกันมาก ในผู้ที่เป็นน้อยภูมิต้านทานจะต่ำกว่าในผู้ที่มีอาการมากหรือมีปอดบวม หรือลงปอด หรือผู้ที่มีไข้สูงยาวนาน

10. วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ทำคล้ายไวรัสตับอักเสบบี สร้างโปรตีนในส่วนของหนามแหลมไวรัส จุดสำคัญอยู่ที่ การใช้สารเสริมกระตุ้นภูมิต้านทาน ที่เรียกว่า adjuvant เพราะโปรตีนหนามแหลมนี้มีขนาดใหญ่ เราจะเห็นว่า วัคซีน Novavax ที่คนไทยพูดถึงกันบ่อย และอยากได้ใช้ แต่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่รับรอง อยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้เพราะ มีสารกระตุ้นภูมิต้านทาน adjuvant ตัวใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ในมนุษย์ที่เรียกว่า Matrix M ได้มาจาก เปลือกไม้ ต้น Molina  ส่วนของจีนเอง ก็พัฒนา แต่ต้องให้ 3 ครั้งเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี คือ 0 1 6 เดือน ซึ่งจะเสียเวลาในการกระตุ้นภูมิต้านทานให้ได้อย่างรวดเร็ว

11. mRNA วัคซีนใช้หลักการ เอาส่วนรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด- 19 ที่เป็น Messenger RNA ในการสร้างโปรตีนส่วนน้ำแหลม spike มาห่อหุ้มให้เป็น lipid nanoparticles แล้วฉีดเข้าไปในร่างกาย อาร์เอ็นเอส่วนนี้จะไปเข้าสู่เซลล์แล้วเข้าสู่กระบวนการ สร้างโปรตีนตามรหัสที่กำหนด ออกมาเป็นแอนติเจนกระตุ้นสร้างแอนติบอดี  เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่บังคับให้เซลล์มนุษย์สร้างโปรตีนตามที่กำหนด 

12. virus Vector vaccine เป็นวัคซีนที่ใช้ตัวไวรัสไม่ก่อโรค และใส่รหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด 19 เข้าไปแล้วให้ตัวไวรัสนั้นติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ เพื่อให้รหัสพันธุกรรมนั้นผ่านกระบวนการสร้าง Messenger RNA  แล้วจึงสร้างโปรตีนหนามแหลมออกมานอกเซลล์ เป็นแอนติเจนให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ 

13. วัคซีนชนิดโปรตีน subunit เป็นการสร้างโปรตีนให้เหมือนกับหนามแหลม spike โดยกำหนดให้สิ่งมีชีวิตสร้างขึ้น เช่นใช้เซลล์เพราะเลี้ยงของแมลง คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี ที่ให้ยีสร้างให้ แต่เนื่องจากโปรตีนหนามแหลม spike มีขนาดใหญ่กว่า โปรตีนเปลือกผิวของไวรัสตับอักเสบบีมาก การสร้างขึ้นมาให้คงรูปร่าง จึงต้องใช้เซลล์ชั้นสูงขึ้น และเมื่อได้แล้วสิ่งที่สำคัญมากของวัคซีนชนิดนี้คือการใช้สารเพิ่มกระตุ้นภูมิต้านทาน ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีสารของตัวเองที่ใช้กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานขนาดสูงได้ นวัตกรรมที่สำคัญจะอยู่ตรงที่การใช้สารเพิ่มกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกาย วัคซีนนี้ที่ผ่านระยะที่ 3 และรอการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา คือ Novavax และวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศจีนในภาวะฉุกเฉินแล้วคือ ของ Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical Co. Ltd แต่ต้องให้ 3 ครั้งคล้ายไวรัสตับอักเสบบี 

14. วัคซีนเชื้อตาย ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงไวรัสบน verocell ที่เป็นเซลล์ชนิดเดียวกับการเพาะเลี้ยงไวรัสอีกหลายชนิดที่นำมาทำวัคซีน แล้วไวรัสนั้นมาทำร้ายด้วยสารเคมี นำมาทำให้บริสุทธิ์ ให้จับกับสารเพิ่มภูมิต้านทานเป็นเกลือของอลูมิเนียม แล้วนำมาประกอบเป็นวัคซีน เช่นเดียวกับวัคซีนเชื้อตายที่ใช้ในอดีต

15. ข้อดีข้อเสียของวัคซีนชนิดต่างๆ mRNA กระตุ้นภูมิได้สูงสุด มากกว่าไวรัส vector วัคซีนชนิดเชื้อตายกระตุ้นภูมิต้านทาน ได้ต่ำกว่า ภูมิที่เกิดขึ้นจะเท่าเทียมกับการติดเชื้อ 1 ครั้งเท่านั้น

16. อาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ วัคซีนชนิด mRNA และไวรัส Vector มีอาการข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตามตัว เจ็บบริเวณที่ฉีด มากกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย อาการข้างเคียงรุนแรง ในการทำให้เกิดลิ่มเลือด ของไวรัส Vector โอกาสเกิดได้ 1 ในแสน ทำนองเดียวกัน mRNA ก็มีส่วนสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเลือด TTP และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบไหนเด็กวัยรุ่น

17. วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ใช้สายพันธุ์ของไวรัสดั้งเดิม ตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น และในปัจจุบันไวรัสได้มีการวิวัฒนาการ ปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบันลดลง

18. การกลายพันธุ์ของไวรัส ถ้ายิ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก มีการติดเชื้อมากมาย โอกาสก็จะเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย แต่ถ้าไวรัสนี้สามารถควบคุมได้ และมีการระบาดเป็นเพียงแบบไข้หวัดใหญ่ อัตราการกลายพันธุ์ของไวรัสนี้ ช้ากว่าไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนครบแล้ว ในปีต่อไปก็คงจะต้องมีการฉีดเพิ่มขึ้นตามสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง แต่ตามหลักการสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้จะช้ากว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในอนาคตจึงต้องมีการฉีดในปีแรกๆ และปีต่อๆ ไปอาจจะห่างออก ถ้าสามารถควบคุมโรคได้ไม่ให้มีการระบาดการกลายพันธุ์ก็จะเกิดขึ้นช้า

19. อย่างที่กล่าวมาแล้วโรคนี้ ประชากรทั้งโลกยังไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยวัคซีนในการกระตุ้นภูมิต้านทานให้เกิดขึ้นในประชากรหมู่มาก และผู้ที่มีภูมิต้านทานแล้วก็สามารถยับยั้งการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว เป็นการลดความรุนแรงของโรคและลดการแพร่กระจายของโรค และจะทำให้ในที่สุด โรคนี้ก็ยังอยู่กับเรา แต่จะไปเป็นมากในเด็ก ซึ่งมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่อย่างมาก ก็จะเป็นโรคทางเดินหายใจอีกรอบหนึ่งในอนาคต

20. ในปัจจุบันทราบกันดีแล้วว่าไม่ว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อใด มาตรการในการควบคุมป้องกันโรค ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การดูแลสุขอนามัยล้างมือ กำหนดระยะห่างของสังคม ยังต้องทำต่อไป ดังเห็นได้ในบทเรียนของประเทศที่ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ยังสามารถทำให้เกิดโรคระบาดได้ไม่ว่าในอิสราเอลหรือในอังกฤษ

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan


 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง