TNN online ทำความเข้าใจก่อนฉีด เปิดสรรพคุณวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดแตกต่างกัน

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ทำความเข้าใจก่อนฉีด เปิดสรรพคุณวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดแตกต่างกัน

ทำความเข้าใจก่อนฉีด เปิดสรรพคุณวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดแตกต่างกัน

นพ.ธีระ โพสต์เปิดสรรพคุณวัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิดแตกต่างกัน แนะทำความเข้าใจก่อนฉีดให้ถ่องแท้

วันนี้ (4มี.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า จากข้อมูลปัจจุบัน เราทราบได้ว่ามีวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดที่ออกมาให้ใช้กันทั่วโลก

สำหรับวัคซีนที่สนใจกันมากๆ นั้น ขอแบ่งให้เข้าใจง่ายๆ ว่ามี 3 ประเภทหลัก คือ


1. วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม คือเอาไวรัสทั้งตัวมาทำให้ตาย แล้วนำมาใช้เป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น Sinovac ของจีน

2. วัคซีนที่เป็นเทคโนโลยีกลางเก่ากลางใหม่ ได้แก่ การเอาชิ้นส่วนเปลือกนอกของไวรัสหรือสร้างเลียนแบบขึ้นมา เช่น Novavax ของอเมริกา และการใช้เชื้ออื่นที่ดัดแปลงให้ไม่มีฤทธิ์ก่อโรค เพื่อช่วยนำพาสารพันธุกรรมบางส่วนของไวรัสโควิดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เช่น Astrazeneca/Oxford ของสหราชอาณาจักร Sputnik-V ของรัสเซีย และ Johnson&Johnson ของอเมริกา ซึ่งทั้งสามตัวล้วนใช้ Adenovirus ซึ่งมีทั้งเหมือนและต่างชนิดกันไป

3. วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อนในโรคอื่นๆ คือ mRNA vaccine เช่น Pfizer/Biontech และ Moderna ของอเมริกา หรือแม้แต่วัคซีนตัวหนึ่งที่จุฬาฯ กำลังวิจัยเช่นกัน


สรุปมาข้างต้น จะได้เข้าใจในหลักการ...

ส่วนเรื่องสรรพคุณของวัคซีนโควิด-19 นั้น แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรขวนขวายหาความรู้และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

เพราะหากเข้าใจผิด คิดว่ามีวัคซีน แล้วไปฉีดมาโดยไม่รู้ว่าสรรพคุณของตัวนั้นๆ เป็นเช่นไร มั่นใจแค่ไหน ก็อาจหลงนึกว่าจะแข็งแกร่งปลอดภัยไร้โรค แล้วปล่อยปละละเลยการป้องกัน จนเกิดระบาดกันงอมแงมได้


สรรพคุณของวัคซีนที่พึงปรารถนานั้น อธิบายแบบบ้านๆ มี 3 อย่างหลัก ได้แก่

1. ฉีดแล้วป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

2. ฉีดแล้ว ยังติดเชื้อได้ แต่ป้องกันการป่วย

3. ฉีดแล้ว ยังติดเชื้อได้ ป่วยได้ แต่ลดความรุนแรงหรือลดโอกาสเสียชีวิต


ตามหลักการแล้ว เราอยากได้ข้อแรกอย่างมาก แต่ปัจจุบันวัคซีนที่วิจัยพิสูจน์ว่าป้องกันไม่ให้ติดเชื้อนั้น มีเพียง Pfizer/Biontech ป้องกันได้ 75-89.4%, Moderna 67% และ Johnson&Johnson 74% ส่วน Astrazeneca นั้นหากฉีดขนาดปกติ จะป้องกันได้เพียง 2%

ในขณะข้อสองคือ ฉีดแล้ว ยังติดเชื้อได้ แต่ป้องกันไม่ให้ป่วยนั้น วัคซีนทั้งหมดที่ออกมานั้นมีสรรพคุณนี้มากน้อยแตกต่างกันไป ที่ได้ผลสูงคือ Pfizer/Biontech, Novavax, Moderna, Sputnik-V ส่วนที่รองลงมาคือ Johnson&Johnson, Astrazeneca และ Sinovac


ส่วนสรรพคุณข้อสามคือ ฉีดแล้ว ติดเชื้อได้ ป่วยได้ แต่ลดความรุนแรงหรือการเสียชีวิตนั้น วัคซีนส่วนใหญ่มีสรรพคุณนี้สูง 90-100%  ยกเว้นบางชนิดที่ข้อมูลไม่ได้ประกาศออกมาอย่างละเอียดชัดเจน


นอกจากนี้ สรรพคุณวัคซีนที่ควรสนใจคือ ผลต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์สหราชอาณาจักร สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เป็นต้น ขณะนี้มีวัคซีนไม่กี่ตัวที่มีผลวิจัยว่ายังได้ผล เช่น Pfizer/Biontech, Moderna เป็นต้น แต่ทราบกันว่าตอนนี้แทบทุกตัวก็กำลังทำการวิจัยปรับปรุงวัคซีนของตนให้สามารถจัดการสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ คงต้องติดตามกันต่อไป


การเลือกใช้วัคซีนนั้น ต้องดูทั้งสรรพคุณต่างๆ ที่กล่าวมา และชั่งน้ำหนักกับเรื่องความปลอดภัย เช่น การแพ้วัคซีน 


ดังนั้นจึงต้องตัดสินใจให้รอบคอบ ใช้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเป็นแสงส่องทาง ตรวจสอบให้ดี จะช่วยให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ควรเชื่อเพราะลมปากบอกต่อกันมา 


วัคซีน...สำหรับตัวเราและสมาชิกในครอบครัว...ต้องเลือกให้ดี ไม่ใช่อะไรก็ได้

เพราะส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของเรา

และเมื่อเรามีความรู้เช่นนี้ ก็จะทราบดีว่า การป้องกันตัวยังควรต้องทำไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสงครามจะจบจริง อย่าเพิ่งหลงระเริงตามกิเลสที่ไม่สมควร

ด้วยรักต่อทุกคน


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง