TNN online ดีเดย์ 1 มี.ค. ผู้ป่วยโควิดไม่ใช่เคสฉุกเฉิน UCEP ต้องเข้าระบบรักษาตามสิทธิตนเอง

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

ดีเดย์ 1 มี.ค. ผู้ป่วยโควิดไม่ใช่เคสฉุกเฉิน UCEP ต้องเข้าระบบรักษาตามสิทธิตนเอง

ดีเดย์ 1 มี.ค. ผู้ป่วยโควิดไม่ใช่เคสฉุกเฉิน UCEP ต้องเข้าระบบรักษาตามสิทธิตนเอง

ดีเดย์ 1 มีนาคม เผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่ใช่ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” ที่จะสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลอีกต่อไป แต่จะต้องเข้ารักษาตามระบบสิทธิของประชาชนแต่ละคน

วันนี้ ( 13 ก.พ. 65 )นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงกรณีการเตรียมปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ออกจากการเป็นผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินวิกฤต รักษาทุกที่ หรือยูเซ็ป(UCEP) มาเป็นการรักษาและเบิกจ่ายตามสิทธิประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ว่า เรื่องนี้ต้องมีการทำความเข้าใจว่าคำว่า UCEP หมายถึง ภาวะผู้ป่วยมีอาการวิกฤตฉุกเฉินเกิดขึ้นทันทีทันใด จำเป็นต้องได้รับการรักษา ยังหน่วยบริการนอกระบบ ซึ่งมักเป็นคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน ที่ผ่านมา ช่วงที่มีการระบาดของ โควิด-19 พระราชบัญญัติสถานพยาบาล ได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็น เหตุฉุกเฉินวิกฤต แต่หากมีการยกเลิก ก็จะกลับไปอยู่ในระบบของประชาชนทุกคน คือ สิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง สิทธิประกันสังคมและสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการ

 อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการ หรือภาวะการเข้าข่าย ฉุกเฉิน ก็ยังสามารถเข้ารักษา ยังหน่วยบริการนอกระบบตามหลักเดิมของ UCEP ที่มีอยู่เดิมได้ โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในข่ายฉุกเฉิน ต้องดูที่อาการเป็นหลัก หากมีอาการ ปอดบวม มีไข้สูง อยู่ในเกณฑ์สีแดง ก็สามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่หากไม่มีอาการก็เข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ์ 

โดยสิทธิการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ UCEP คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตและสามารถคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

โดย มี 6 อาการที่เข้าข่าย ภาวะฉุกเฉินวิกฤต ได้แก่ 

-หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

-หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรงหายใจติดขัดมีเสียงดัง

-ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น

-เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง

-แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วนหรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

-อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต 

ทำความเข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิ ภาวะฉุกเฉินวิกฤต  หรือ UCEP

-ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

-โรงพยาบาลประเมินอาการและคัดแยกระดับความฉุกเฉิน

-ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล

-กรณีเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต จะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิ UCEP ทันที แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง

-กรณีไม่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้รีบประสานโรงพยาบาลตามสิทธิหากประสงค์รักษาต่อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง 

สำหรับประกาศยกเลิกการกำหนดให้ผู้ "ติดโควิด" เป็น "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" หรือ UCEPแล้วให้ไปใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคลที่ประชุม ศบค.มีการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะให้เริ่มในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ประชาชนจะได้รับสิทธิ์ค่าตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ โดย สปสช.จะจ่ายชดเชยให้สถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารักษา หากใช้วิธี RT-PCR จะอยู่ที่ 900 บาท และ 1,100 บาท ขึ้นกับวิธีการตรวจการตรวจด้วย ATK จะอยู่ที่ 250 และ 350 บาท ขึ้นกับเทคนิคของชุดตรวจ และปรับอัตรากรณีรักษาในฮอสพิเทลอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับกรณีการแยกกักตัวเองที่บ้าน หรือ โฮมไอโซเลชั่น ส่วนบริการนอกเหนือจากสิทธิ หรือ โรงพบาบาลเอกชน ต้องจ่ายเอง

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง