รู้จัก "บังเกอร์บัสเตอร์" GBU-57A/B MOP อาวุธระเบิดเจาะทำลายบังเกอร์ใต้ดินความลึก 61 เมตร

รู้จัก "บังเกอร์บัสเตอร์" GBU-57A/B MOP อาวุธระเบิดเจาะทำลายบังเกอร์ใต้ดินความลึก 61 เมตร

หลังสงครามอ่าวปี 1991 กองทัพสหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงข้อจำกัดของระเบิดแบบเดิมในการโจมตีเป้าหมายที่ฝังลึกใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นฐานบัญชาการลับ บังเกอร์เก็บอาวุธ หรือโรงงานนิวเคลียร์ของศัตรูสหรัฐฯ เช่น อิหร่านและเกาหลีเหนือ จากความท้าทายนี้ จึงนำไปสู่การพัฒนาอาวุธใหม่ที่สามารถเจาะเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำและรุนแรง นั่นคือ GBU-57A/B Massive Ordnance Penetrator (MOP)

ประวัติการพัฒนา

โครงการเริ่มต้นในช่วงปี 2004-2005 โดยมี DARPA เป็นหน่วยวิจัยต้นทาง ก่อนส่งไม้ต่อให้ห้องปฏิบัติการ AFRL (Air Force Research Laboratory) เพื่อพัฒนาเชิงลึก โดยบริษัท Boeing และ Northrop Grumman รับหน้าที่ผลิตต้นแบบและประกอบการทดสอบภาคสนาม 

แต่โครงการพัฒนาเริ่มขึ้นจริงในปี 2007 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2009 ก่อนจะเริ่มประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในปี 2011 ชื่อที่เรียกในช่วงต้นคือ “Big BLU” หรือ “Big Bunker Buster” ก่อนที่จะใช้ชื่อทางการว่า GBU-57A/B MOP

Wikipedia / U.S. military

สรุปข่าว

GBU-57A/B MOP เป็นระเบิดเจาะบังเกอร์ขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ พัฒนาเพื่อทำลายเป้าหมายใต้ดินลึก เช่น บังเกอร์นิวเคลียร์หรือโรงงานลับ โดยยังไม่เคยถูกใช้งานจริง แต่พร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินระดับยุทธศาสตร์

อาวุธระเบิดที่ลึกและแรงที่สุด 

GBU-57A/B MOP คือ ระเบิดนำวิถีแบบเจาะทะลุ (Bunker buster) ที่หนักถึง 30,000 ปอนด์ หรือ 13,608 กิโลกรัม และยาวกว่า 6 เมตร ถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับ B-2 Spirit ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดล่องหนรุ่นเดียวที่สามารถบรรทุกน้ำหนักนี้ได้

หัวรบระเบิดใช้เหล็กกล้าเกรดพิเศษในการเจาะทะลุเป้าหมายก่อนจุดระเบิดได้ลึกถึง 200 ฟุต หรือ 61 เมตร ในคอนกรีตหรือชั้นหินแข็ง โดยมีระบบนำวิถีผสมระหว่าง Inertial และ GPS ช่วยให้ยิงเข้าเป้าอย่างแม่นยำในระดับสูง


เปรียบเทียบแรงระเบิด

ระเบิด "บังเกอร์บัสเตอร์" GBU-57A/B MOP มีพลังทำลายสูงมากจากน้ำหนักรวมกว่า 13 ตัน แม้จะไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาวุธธรรมดาที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยมีหัวรบระเบิดหนักกว่า 5,300 ปอนด์ หรือ 2,404 กิโลกรัม  ซึ่งเทียบได้กับแรงระเบิดของระเบิด TNT ประมาณ 3 ตัน 

ในทางเปรียบเทียบ พลังนี้ใกล้เคียงกับระเบิด MOAB (GBU-43/B) ที่รู้จักกันว่าเป็น “ราชินีแห่งระเบิดทั้งปวง” ของสหรัฐฯ แม้ MOAB จะมีแรงระเบิดมากกว่า แต่ GBU-57A/B ได้เปรียบด้านการเจาะทะลุเป้าหมายใต้ดินที่ลึกกว่า โดยระเบิด MOAB ทำลายใต้ดินได้ลึกเพียงไม่กี่เมตร แต่น้ำสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงรอบ ๆ พื้นที่เป้าหมายได้ถึง 50-60 เมตร จึงเหมาะสำหรับทำลายบังเกอร์หรือฐานลับในภูเขาอย่างแม่นยำ

สำหรับคู่แข่งสหรัฐอเมริกา เช่น จีนและรัสเซียเป็น 2 ประเทศที่มีการพัฒนาอาวุธเจาะทำลายบังเกอร์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ GBU-57A/B MOP แม้จะยังไม่มีอาวุธใดที่เทียบเคียงได้อย่างสมบูรณ์ในด้านขนาดและพลังเจาะลึก 

รัสเซียมีระเบิด KAB-1500L-Pr ซึ่งเป็นระเบิดเลเซอร์นำวิถีชนิดเจาะทะลุคอนกรีตขนาด 1,500 กิโลกรัม ติดตั้งได้กับเครื่องบิน Su-24 และ Su-34 ใช้สำหรับทำลายบังเกอร์และเป้าหมายโครงสร้างแข็งแรง แต่ยังมีขีดความสามารถรองจาก MOP ที่สามารถเจาะลึกได้มากถึง 61 เมตร

ส่วนจีนพัฒนาอาวุธในกลุ่ม GB-1500 และ GB-2500 ซึ่งเป็นระเบิดนำวิถีด้วย GPS หรือเลเซอร์ที่มีน้ำหนักระหว่าง 1.5–2.5 ตัน โดยออกแบบให้ใช้กับเครื่องบินขนส่งอาวุธหนัก เช่น JH-7 และ J-16 แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันเรื่องความลึกของการเจาะเทียบเท่า MOP แต่จีนมีทิศทางชัดเจนในการพัฒนาอาวุธเจาะบังเกอร์ระดับยุทธศาสตร์ โดยมุ่งเป้าไว้ใช้โจมตีฐานลับหรือโครงสร้างนิวเคลียร์ในกรณีจำเป็นทางทหาร

เป้าหมายการใช้งาน

GBU-57A/B MOP ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อภารกิจเฉพาะทางในการทำลายเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ใต้ดินลึก ซึ่งไม่สามารถโจมตีได้ด้วยอาวุธทั่วไป เช่น บังเกอร์เก็บอาวุธนิวเคลียร์หรือวัสดุอันตราย, ห้องบัญชาการทางทหารที่มีการเสริมความแข็งแกร่งอย่างแน่นหนา, โรงงานลับที่ใช้พัฒนาเทคโนโลยีอาวุธขั้นสูง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายตรงข้ามอย่างทันทีและเฉียบขาด

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน GBU-57A/B MOP ยังไม่เคยถูกใช้งานจริงในสนามรบ อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีรายงานยืนยันจากกองทัพสหรัฐฯ หรือสื่อข่าวความมั่นคงว่ามีการปล่อย MOP ใส่เป้าหมายใดโดยตรง 

มีเพียงมีการฝึกซ้อมและทดสอบจริง หลายครั้ง ทั้งในสหรัฐฯ และฐานทัพต่างประเทศ เพื่อแสดงแสนยานุภาพ และเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ความตึงเครียดกับอิหร่านหรือเกาหลีเหนือที่มีเป้าหมายใต้ดินระดับลึกซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์

Thailand Web Stat
ข่าวเด่นวันนี้
Icon