TNN online สิบปีหลังลิเบียสิ้น ‘กัดดาฟี’ แต่ผู้คนยังสนับสนุนเผด็จการไม่เปลี่ยน?

TNN ONLINE

World

สิบปีหลังลิเบียสิ้น ‘กัดดาฟี’ แต่ผู้คนยังสนับสนุนเผด็จการไม่เปลี่ยน?

สิบปีหลังลิเบียสิ้น ‘กัดดาฟี’ แต่ผู้คนยังสนับสนุนเผด็จการไม่เปลี่ยน?

เมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) ชาวลิเบียทั่วประเทศต่างออกมาร่วมในพิธีรำลึก วาระครบรอบ 10 ปี ที่ มูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ถูกสังหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2011 หลังเหตุลุกฮือทั่วประเทศ จนนำไปสู่การโค่นอำนาจและสังหารเขา แต่ลึก ๆ แล้ว ผู้คนจำนวนมากในลิเบีย ยังคงรำลึกถึงอดีตผู้นำของเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย

รูปภาพขนาดใหญ่ของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกติดตั้งไว้ด้านหน้าทางเข้าเมืองบานี วาลิด ในทะเลทรายซาฮารา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของลิเบีย แม้กัดดาฟีจะจากไปครบ 10 ปีแล้ว แต่ชาวบ้านหลายคนที่นี่ยังมองว่า กัดดาฟีเป็นสัญลักษณ์ของประเทศลิเบีย และจะยังคงสนับสนุนเขาตลอดไป


ขณะที่อาคารหลายแห่งทั่วทั้งเมืองที่มีประชากรราว 100,000 คน ยังคงเต็มไปด้วยรูกระสุนและปืนครก ที่ถูกยิงถล่มเข้าใส่ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองทั่วลิเบียนานนับ 10 ปี


กัดดาฟี ถูกนักรบกลุ่มกบฏจับกุมตัวและสังหาร ที่เมืองเซอร์เต บ้านเกิดของเขา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2011 หลายเดือนหลังเกิดการลุกฮือต่อต้านการปกครองของกัดดาฟีตลอด 40 ปี อันเป็นการลุกฮือต่อต้านที่มีกองกำลังสนธิสัญญาป้องกัยแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ให้การสนับสนุน


◾◾◾

🔴 ปฏิญาณภักดีจนตัวตาย


แต่ชาวบ้านในเมืองบานี วาลิด ฐานที่มั่นสำคัญของชนเผ่าวอร์ฟาลา (Warfala) ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดของลิเบีย และเป็นแกนหลักสำคัญที่สนับสนุนกัดดาฟีมาโดยตลอด บอกว่าจะสนับสนุนเขาไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่


ในช่วงสงครามกลางเมือง นักรบในเมืองจำนวนมากถูกสังหารเพื่อปกป้องเมืองและอุดมการณ์ของกัดดาฟี ซากรถถังและความเสียหายต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ปะทะกลางทะเลทราย แต่ที่คงอยู่ในสภาพดี คือรูปของกัดดาฟี ที่ถูกติดไว้เหนืออาคาร และกลายเป็นเหมือน ‘อนุสรณ์’ รำลึกถึงผู้นำประเทศที่พวกเขายกย่องตลอดไป


เมืองบานี วาลิด ตั้งอยู่ในโอเอซิสกลางทะเลทราย ห่างจากกรุงทริโปลีเมืองหลวง ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ราว 170 กิโลเมตร อาคารที่ว่าการเมืองในตอนนี้ ไม่ต่างอะไรจากซากอาคารปรักหักพัง แต่ธงสีเขียวอันเป็นลัญลักษณ์ในยุครุ่งเรื่องของกัดดาฟี ยังคงอยู่สูงบนยอดเสาและสะบัดไปตามแรงลมในทะเลทราย


ส่วนธงสีแดง ดำ และเขียว ของลิเบียยุคก่อนกัดดาฟี ที่กลุ่มกบฎต่อต้านนำมาใช้ใหม่ในปี 2011 กลับไม่มีปรากฏให้เห็นแม้แต่ผืนเดียว


◾◾◾

🔴 สิ้นเผด็จการ แต่ไม่มีอะไรดีขึ้น


ชาวเมืองคนหนึ่งเล่าว่า ก่อนปี 2011 ชาวลิเบียล้วนกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง แต่จากนั้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องเผชิญแต่ความอยุติธรรม เสียงปืน เสียงระเบิด การสังหารและลักพาตัวผู้คน คำว่าปฏิวัติควรเกิดขึ้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน บานี วาลิด และอีกหลายเมืองของลิเบีย ไม่ใช่การปฏิวัติที่แท้จริง เป็นแค่การวางแผนอันชั่วร้ายที่มีเป้าหมายเล่นงานลิเบียเท่านั้นเอง


วาระครบรอบ 10 ปีการสังหาร มูอัมมาร์ กัดดาฟี เกิดขึ้นในช่วงที่ลิเบียเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคมปีนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพในประเทศ นำโดยสหประชาชาติ ที่ผู้คนในลิเบียบางส่วนมองอย่างมีความหวังว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของสันติสุขและความสงบ ในหน้าประวัติศาสตร์ของลิเบีย


แต่ชาวเมือง บานี วาลิด บางส่วนไม่เชื่อแบบนั้น พวกเขามองว่า ลิเบียในยุคที่กัดดาฟีปกครอง ยังทำให้พวกเขามีหวังในชีวิตมากกว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน


ชาวเมืองคนหนึ่งบอกว่า สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ เมืองบานี วาลิด ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มกบฎต่อต้านมาโดยตลอด ทำให้ช่วง 10 ปีหลังการโค้นล้มกัดดาฟี ทั้งเมืองไม่มีอะไรดีขึ้นนอกจากสงคราม ผู้คนล้มตายและถูกลักพาตัว ประเทศถูกแบ่งแยก อธิปไตยถูกต่างชาติละเมิดและย่ำยี พวกเขาจึงยังยึดติดอยู่กับอดีต เพราะเป็นช่วงที่ชาวเมืองมีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


◾◾◾

🔴 ทรราช หรือผู้ปกป้องประเทศ


ชาวบ้านอีกคนบอกว่า กัดดาฟีไม่ใช่ผู้นำเผด็จการหรือทรราชแบบที่ต่างชาติเข้าใจ แต่ที่จริงแล้ว เขาเป็นเหมือนผู้คุ้มครองความปลอดภัยให้ชาวลิเบียทุกคน


แค่ยกตัวอย่างสภาพเศรษฐกิจของลิเบียทุกวันนี้ ที่เต็มไปด้วยความโกลาหลและเงินเฟ้อพุ่งพรวด ก็เป็นหลักฐานชั้นดีว่า ชีวิตใต้การปกครองของกัดดาฟีดีกว่าชีวิตในปัจจุบันหลายเท่า


จึงไม่น่าแปลใจ ที่ชาวเมือง บานี วาลิด จะไม่เพียงสนับสนุนกัดดาฟีอย่างมั่นคงเท่านั้น แต่ยังส่งผ่านความจงรักภักดี มาถึง ซาอีฟ อัล-อิสลาม กัดดาฟี ลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการ ที่ภาพใบหน้าของเขาปรากฏทั่วเมืองไม่แพ้ภาพของผู้เป็นบิดา


ขณะที่ซาอีฟ เคยให้สัมภาษณ์กับ New York Times เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าเขาอาจตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในการเลือกตั้งปลายปีนี้, เขาเชื่อมั่นว่า จะได้รับการสนับสนุนจากทั้งชาวเมืองบานี วาลิด และเมืองอื่น ๆ ในลิเบีย ที่มองว่า จะสนับสนุนระบอบการเมืองภายใต้พรรคการเมืองใหม่ในประเทศไปทำไม ในเมื่อการเมืองใหม่เหล่านี้ ไม่เคยสร้างอะไรใหม่ ๆ ให้กับชาวลิเบียเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

—————

เรื่อง: ชายแดน คล้ายใยทอง

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง