TNN ฉากทัศน์ต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯเศรษฐาพ้นตำแหน่ง

TNN

TNN Exclusive

ฉากทัศน์ต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯเศรษฐาพ้นตำแหน่ง

ฉากทัศน์ต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯเศรษฐาพ้นตำแหน่ง

ฉากทัศน์ต่อไป หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯเศรษฐาพ้นตำแหน่ง



เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ กรณีดังกล่าวเกิดจากสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และมีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาและนายพิชิตสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ


ต่อมาเวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยว่า จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายเศรษฐาทราบว่านายพิชิตถูกดำเนินคดีและมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติของนายพิชิตตั้งแต่ก่อนพิจารณาแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี การเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีจึงเป็นการไม่เหมาะสม ไม่แสดงถึงความสุจริต การที่นายเศรษฐานำเสนอชื่อนายพิชิตเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ทั้งๆที่เคยถอดชื่อไปก่อนหน้านี้ ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ กระทำการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม เสียเกียรติศักดิ์ของนายกรัฐมนตรี สมคบกับผู้มีชื่อเสียงเสื่อมเสีย ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม


ท้ายที่สุด องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีมติวินิจฉัยว่า  ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง จากกรณีที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน ส่งผลให้นายเศรษฐาไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ซึ่งทำให้โหมดการเมืองเปลี่ยนไป และต้องมีกระบวนการสรรหานายกฯและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่


ผู้ทำหน้าที่นายกฯรักษาการคือใคร?

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 168 บัญญัติว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการประชุมปรึกษากันเพื่อเลือกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ โดยตามกฎหมายไม่ได้ให้นายกฯที่พ้นจากตำแหน่งเป็นผู้รักษาการ ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งน่าจะถูกเสนอชื่อให้ทำหน้าที่นี้ไปพลางก่อน


ก้าวต่อไปในการเลือกนายกฯใหม่

จากนี้ไป ถ้ายังไม่ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง เคยแจ้งไว้กับ กกต.ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยตอนนี้มีอยู่ 5 คน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยพรรคต่างๆต้องหารือกันเพื่อหาข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ ซึ่งเป็นไปได้ว่า น.ส.แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจถูกเสนอชื่อ เพราะมาจากพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในสภา


ยังมีทางเลือกยุบสภาและเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลหาข้อตกลงกันไม่ได้ในการเลือกนายกฯใหม่ หรือเห็นว่าควรให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง นายกฯรักษาการก็มีทางเลือกในการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนครบวาระ ซึ่งจะต้องทำภายใน 5 วันหลังพ้นตำแหน่ง จากนั้นกกต.จะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด


ภาพรวมของรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่แน่ชัด

หากมีการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่โดยไม่ยุบสภา แม้มีแคนดิเดตนายกฯที่ถูกเสนอชื่อมาแล้ว แต่ภาพรวมของรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่แน่ชัด เพราะต้องรอดูว่าแคนดิเดตนายกฯที่มาจากพรรคใดจะได้รับการโหวต และพรรคนั้นจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร ซึ่งอาจมีการเจรจาต่อรองกันอีกหลายรอบโต๊ะ


การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำให้ฉากทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเกิดการเลือกนายกฯใหม่ผ่านการโหวตในสภา หรือมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายต่างๆออกมาในช่วงที่เหลือก่อนครบวาระ ทำให้ต้องจับตาติดตามกระบวนการทางการเมืองในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด ว่าพรรคต่างๆจะเคลื่อนไหวอย่างไร ข้อตกลงทางการเมืองจะเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่ภาพรวมของรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต


ภาพ รัฐบาลไทย 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง