TNN online บริษัทเอกชน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกาจับมือร่วมกันสร้างสถานีอวกาศเอกชน Starlab ในปี 2027

TNN ONLINE

Tech

บริษัทเอกชน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกาจับมือร่วมกันสร้างสถานีอวกาศเอกชน Starlab ในปี 2027

บริษัทเอกชน 3 แห่งในสหรัฐอเมริกาจับมือร่วมกันสร้างสถานีอวกาศเอกชน Starlab ในปี 2027

สถานีอวกาศ Starlab สถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกที่โคจรรอบโลกในปี 2027

บริษัท Lockheed Martin , Nanoracks และ Voyager Space บริษัทเอกชน 3 แห่งด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศสหรัฐอเมริกาจับมือร่วมกันก่อสร้างสถานีอวกาศ Starlab สถานีอวกาศเอกชนแห่งแรกที่โคจรรอบโลกในปี 2027 โดยใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างในอวกาศรูปแบบใหม่สามารถรองรับภารกิจการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศที่คาดว่าจะมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต


สถานีอวกาศ Starlab ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับโครงการอวกาศของนาซาที่มีชื่อว่า Commercial Low-Earth Orbit Destination (CLD) มูลค่าโครงการมากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนาซาจะทำการคัดเลือกสถานีอวกาศพร้อมใช้งานโคจรรอบโลกทดแทนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งคาดว่าจะปลดประจำการในช่วงประมาณปี 2030 โดยเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ นำเสนอรูปแบบเทคโนโลยีสถานีอวกาศ 


การออกแบบให้เป็นสถานีอวกาศ Starlab โครงสร้างมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และสถานีอวกาศเทียนกง (Tiangong) ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โครงสร้างบางส่วนของสถานีอวกาศ Starlab ใช้การพองตัวด้วยอากาศคล้ายบอลลูนซึ่งวิธีการก่อสร้างในรูปแบบนี้สามารถสร้างพื้นที่กว้างให้กับสถานีอวกาศ 340 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้พื้นที่บนจรวดขนส่งอวกาศน้อยขณะจรวดเดินทางขึ้นจากโลก


ส่วนประกอบภายในสถานีอวกาศ Starlab มีพื้นที่กว้างเพียงพอที่จะทำกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น การวิจัยวัสดุศาสตร์ การทำฟาร์มปลูกพืชขนาดเล็ก พื้นที่ห้องพักส่วนตัวของนักบินอวกาศ ส่วนประกอบภายนอกสถานีอวกาศติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่ 4 แผงเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ 60 กิโลวัตต์ ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมและดำรงชีพในอวกาศ (ECLSS) ระบบขับเคลื่อนเพื่อรักษาตำแหน่งของสถานีอวกาศในวงโคจรของโลกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม


ปัจจุบันนาซายังไม่ประกาศผลบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการ Commercial Low-Earth Orbit Destination (CLD) ดังนั้นสถานีอวกาศ Starlab ยังคงต้องพบกับการแข่งขันจากบริษัทอื่น ๆ ที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีสถานีอวกาศรูปแบบใหม่ หลังจากการปลดประจำการของสถานีอวกาศนานชาติ ISS คาดว่าประเทศรัสเซียหนึ่งในสมาชิกของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS อาจแยกตัวออกไปเพื่อสร้างสถานีอวกาศใหม่ของตัวเองโคจรรอบโลก สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรหันไปให้ความสำคัญกับสถานีอวกาศโคจรรอบดวงจันทร์ (Lunar Gateway) ที่จะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2024 ควบคู่กับสถานีอวกาศเอกชนโคจรรอบโลกในปี 2027




ข้อมูลจาก  newatlas.com, techcrunch.com space.com 

ภาพจาก lockheedmartin.com


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง