งานวิจัยในปี 2018 คาดการณ์ 1 วันของโลกอาจยาวนานขึ้นเป็น 25 ชั่วโมง ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาเผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ปี 2018 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2018 คาดการณ์ว่า 1 วันของโลกอาจยาวนานขึ้นเป็น 25 ชั่วโมง ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า
ภายหลังจากกระแสข่าวดวงจันทร์ถอยห่างจากโลก และทำให้ระยะเวลาการหมุน 1 วันของโลก อาจยาวนานขึ้นเป็น 25 ชั่วโมง ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า ถูกแชร์ส่งต่อบนโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลการวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2018 โดยนักวิจัยสตีเฟน เมเยอร์ส นักธรณีวิทยาและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นการค้นพบใหม่แต่อย่างใด
โดยรายละเอียดผลการศึกษาในงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า จำนวนเวลาการหมุนของโลกอาจยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 25 ชั่วโมง จากเดิม 24 ชั่วโมง เนื่องจากการเคลื่อนที่ห่างออกไปของดวงจันทร์ ส่งผลต่อแรงโน้มถ่วงที่มีต่อโลก อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการหมุนของโลกดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอีก 200 ปีข้างหน้า และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ เพิ่มทีละเล็กน้อยจนแทบไม่กระทบใด ๆ กับโลกในช่วงเวลาสั้น ๆ
ผลการศึกษายังระบุเพิ่มเติมอีกว่าเมื่อประมาณ 1,400 ล้านปีก่อน 1 วันบนโลกอาจมีระยะเวลาเพียง 18 ชั่วโมงเท่านั้น โดยการคำนวณทั้งหมดนี้ใช้วิธีการทางสถิติและทฤษฎีดาราศาสตร์กับการสังเกตการณ์ทางธรณีวิทยา และข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับลักษณะทางธรณีวิทยาของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าการหมุนของโลกในอดีตนั้นเร็วกว่าการหมุนของโลกในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าตำแหน่งของดวงจันทร์กับโลกนั้นไม่คงที่มีระยะห่างจากโลกประมาณ 383,023.872 กิโลเมตร โดยดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ออกห่างจากโลกประมาณ 3.82 เซนติเมตรต่อปี การโคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน และดวงจันทร์ยังหันหน้าด้านเดียวเข้าหาโลกตลอดเวลา หรือที่เรียกว่าการหมุนแบบซิงโครนัส (Synchronous Rotation)
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับดวงจันทร์ยังคงดำเนินต่อไป และการหมุนของดวงจันทร์มีผลกระทบสำคัญหลายประการต่อโลก เช่น ดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงดึงดูดมวลน้ำบนโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อมหาสมุทร ทะเล และแม่น้ำ และส่งผลต่อการหมุนรอบตัวเองของโลกตามข้อมูลที่ถูกนำเสนอในงานวิจัยดังกล่าว
ที่มาของข้อมูล