นักวิจัยสหรัฐฯ พัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับถนนเสื่อม ช่วยซ่อมถนนได้ตรงจุดมากขึ้น
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกา พัฒนาระบบเซนเซอร์ตรวจจับสภาพคอนกรีตบนพื้นถนน ที่เคลมว่าส่งข้อมูลสภาพพื้นถนนคอนกรีตได้แบบเรียลไทม์ ช่วยทำให้รู้จุดที่ต้องซ่อมได้ไว และจัดการซ่อมได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา พัฒนาเซนเซอร์ตรวจจับสภาพคอนกรีตบนพื้นถนน ที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับถนนได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ถนนที่ต้องซ่อมแซมได้ไว สามารถจัดการซ่อมถนนได้ตรงจุด และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เซนเซอร์ตัวนี้เป็นการพัฒนาของศาสตราจารย์ ลูน่า ลู (Luna Lu) จากภาควิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) โดยเธออธิบายว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน
ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เช่น ถนน ทางหลวง หรือสะพานคอนกรีตต่าง ๆ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นและออกแบบมาเพื่อปริมาณการใช้งาน และความถี่การใช้งานที่มากขึ้นในปัจจุบันของผู้คนในสหรัฐฯ ดังนั้นเธอจึงได้สร้างระบบที่จะช่วยให้ตรวจสอบได้ว่า โครงสร้างถนนเหล่านี้ ยังคงมีประสิทธิภาพการใช้งานดีหรือไม่ เพื่อเสริมความปลอดภัยในการใช้งาน
โดยระบบที่เธอพัฒนาขึ้น เป็นเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่สามารถให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ค่อนข้างแม่นยำและสม่ำเสมอ เกี่ยวกับกำลังของคอนกรีตบนท้องถนน โดยเซนเซอร์จะถูกฝังลงในคอนกรีตที่ปูพื้นถนนโดยตรง และถ่ายทอดข้อมูลกำลังของคอนกรีตผ่านแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อไว้
ซึ่งข้อมูลนี้ อาจช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน ทำให้สามารถเปิดการจราจรได้เร็วขึ้น และปรับปรุงความทนทานเพื่อให้ถนนใช้งานได้ยาวนานขึ้นด้วย
โดยปัจจุบัน คณะกรรมการด้านวัสดุและทางเท้าของสมาคมทางหลวงและการขนส่งแห่งสหรัฐอเมริกา ได้อนุมัติการใช้งานเซนเซอร์เหล่านี้ เป็นมาตรฐานแห่งชาติ ในการประมาณความแข็งแรงของคอนกรีต และกำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบใช้งานในหลายรัฐ เพื่อปูทางใช้งานในวงกว้างต่อไป
ข้อมูลจาก apvideohub, purdue
ข่าวแนะนำ
-
จีนทดลองวิ่งรถบรรทุกไร้คนขับ
- 4/8/67
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67